การตลาดเพื่อสร้างจุดขายของศิลปิน "แบดบอย"

ศิลปะ-บันเทิง
17 มี.ค. 56
14:29
328
Logo Thai PBS
การตลาดเพื่อสร้างจุดขายของศิลปิน "แบดบอย"

การออกมาวิจารณ์ศิลปินคนอื่นด้วยถ้อยคำแรงๆ ไปจนถึงการนำเสนอข่าวช่วยสร้างนักร้องคู่กัดในวงการเพลง คือภาพลักษณ์แบดบอยที่อาจทำให้หลายคนไม่ชอบหน้า แต่อาจเป็นความตั้งใจของค่ายเพลงที่อยากสร้างจุดขายให้นักร้องหนุ่มเหล่านี้ขายได้ในระยะยาว

ลีลาการร้องที่เรียบง่ายกับกีต้าร์ และบทเพลงที่แต่งเองจากประสบการณ์ชีวิต อาจทำให้ Jake Bugg ศิลปินดาวรุ่งหน้าใหม่มีจุดขายแบบเดียวกับบ๊อบ ดีแลน แต่นอกจากฝีมือทางดนตรี สิ่งที่ทำให้นักร้องวัย 19 ปีมีพื้นที่อยู่ในสื่อก็คือคำวิจารณ์เพื่อนร่วมวงการ ตั้งแต่การบอกว่าวง Mumford and Sons เป็นเพียงชาวนาชั้นสูงที่เล่นแบนโจ หรือโจมตีรายการ X Factor ว่าผลิตแต่เพลงขยะ

ขณะที่ One Direction ที่แจ้งเกิดจากรายการนี้ เป็นบอยแบนด์หนุ่มหล่อที่กำลังขายดี โดยมี Harry Styles เป็นดาวเด่น ด้วยการเปิดตัวเป็นคู่รักของเจ้าหญิงเพลงคันทรี Taylor Swift แต่เลิกกันในเวลาอันรวดเร็ว ไปจนถึงข่าวการจีบแฟนคลับสาวของตัวเอง สองขั้วศิลปินหน้าใหม่ระหว่างป๊อบและร็อค ไม่เพียงถูกสื่อจัดให้เป็นคู่กัด แต่ภาพลักษณ์แบดบอยยังช่วยให้ขายข่าวได้มากกว่าผลงานดนตรี

"เป็นการตลาด พวกลุคที่เป็นบอยแบนด์อาจจะอยากให้คนดูว่าเค้าโตขึ้นก็เลยทำแบบนี้" อรรถพล ประกอบของ นักร้อง

"ภาพลักษณ์แบบนี้มันก็ขายได้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบแบบนี้" ธนทัต ชัยอรรถ (แกงส้ม) นักร้อง

ชีวิตส่วนตัวที่มีทั้งเรื่องยาเสพติดและผู้หญิง ทำให้ Robbie Williams อดีตสมาชิกวงบอยแบนด์ Take That มีผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยวที่ได้รับความสนใจ จนเป็นสมาชิกวงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือตัวอย่างของภาพลักษณ์แบดบอยที่ส่งผลดีต่อตลาดในระยะยาว แต่หากเทียบกับนักร้องในประเทศไทย การสร้างจุดขายด้วยวิธีการดังกล่าวกลับไม่เป็นที่นิยมนัก ส่วนหนึ่งเพราะการส่งเสริมด้านศีลธรรม และวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่นุ่มนวลกว่าตะวันตก

"วัฒนธรรมเราไม่เหมือนเขา อย่างนี้อเมริกาเขาชอบคอมเมนต์แรงๆ แตกต่างจากบ้านเรา" ขันเงิน เนื้อนวล นักร้องวงไทเทเนี่ยม

"ในเมืองไทยเราจะมีกรอบบางอย่าง ถ้าแสดงภาพลักษณ์กบฎบางทีอาจจะโดนสังคมประนามหรือลงโทษ" ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ ภาควิชาสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ

เมื่อการแข่งขันในวงการบันเทิงเป็นไปอย่างดุเดือด ข่าวส่วนตัวทำให้นักร้องชิงพื้นที่สื่อได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น โดยเฉพาะข่าวในทางลบ  Paul Morley นักวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ The Observer มองว่าค่านิยมที่ศิลปินสร้างสรรค์เพลงด้วยตัวเองนั้นไม่อาจใช้ได้ในยุคนี้ เพราะคนมักหันมาสนใจข่าวฉาว มากกว่าผลงานเพลงที่กลายเป็นเพียงของแถม ขณะที่มีคนไม่น้อยยังเชื่อว่าฝีมือและการพัฒนาตัวเอง จะชี้วัดความอยู่รอดในวงการบันเทิงได้อย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง