สมช.ปัด "ทักษิณ" ร่วมคณะพูดคุยสันติภาพ

การเมือง
27 มี.ค. 56
00:48
108
Logo Thai PBS
สมช.ปัด "ทักษิณ" ร่วมคณะพูดคุยสันติภาพ

สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช.นำกรอบการพูดคุย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าชี้แจงให้ครม.รับทราบแล้ว ขณะที่เลขา สมช.ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางประสานการพูดคุยล่วงหน้าให้กับทั้ง 2 ฝ่าย ในมาเลเซียแล้ว

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ได้นำรายชื่อผู้ร่วมคณะ และหลักการ การพูดคุยเข้าชี้แจงต่อ ครม. เพื่อรับทราบ ก่อนที่จะเดินทางไป ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 มีนาคม โดยจะหารือเป็นการภายในอีกครั้ง ในวันพรุ่งนี้

พล.ท.ภราดรยืนยันถึงความพร้อมในการพูดคุย กับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และกลุ่มพูโลบางส่วน พร้อมปฏิเสธข่าวที่แกนนำบางกลุ่มจะไม่มาร่วมพูดคุยด้วย และไม่กังวลต่อการเคลื่อนไหวในลักษณะที่คัดค้านการพูดคุย รวมถึงการขึ้นแผ่นป้ายรัฐปัตตานีในพื้นที่ภาคใต้ เพราะถือเป็นการแสดงออกของผู้เห็นต่างเท่านั้น

พล.ท.ภราดรปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น เพราะไม่ทราบเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปประสานการพูดคุยล่วงหน้า ในมาเลเซีย

ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ผู้บริหาร และตัวแทนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดยะลาปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล เข้ายื่นหนังสือผ่าน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนแนวทางเจรจาแบบสันติ เพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตัวแทนรัฐบาลไทย และกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น จะเจรจากันในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาก่อความไม่สงบ

นายขดดะรี บินเซ็น ประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเชื่อว่าการพูดคุยแบบสันติจะยุติปัญหาได้ และทำให้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสงบสุขแบบยั่งยืน รวมทั้งเศรษฐกิจในพื้นที่จะดีขึ้น

ขณะที่นายโซรยา จามจุรี คณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้ และนายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่านอกจากตัวแทนเจรจาฝ่ายไทยที่เป็นเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการแล้ว ส่วนสำคัญคือภาคประชาสังคมที่ควรแสดงบทบาทเป็นคนกลางคอยหนุนเสริม เมื่อการพูดคุยเกิดล่มกลางคัน และจะต้องทำหน้าที่สื่อสารเจตนารมณ์ของคู่ขัดแย้งไปสู่ประชาชน เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยสิ่งที่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดในรอบนี้ คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ของทั้งฝ่ายรัฐ และกลุ่มขบวนการ เพราะอาจจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งกระบวนการสร้างสันติภาพได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง