เปิดสถิติ ผู้เฒ่าไทยเพิ่มขึ้น 18.8 ล้านคน เสนอ ศธ.บรรจุหลักสูตรให้เด็กเรียนรู้-ดูแลผู้สูงวัย

สังคม
27 มี.ค. 56
09:21
119
Logo Thai PBS
เปิดสถิติ ผู้เฒ่าไทยเพิ่มขึ้น 18.8 ล้านคน เสนอ ศธ.บรรจุหลักสูตรให้เด็กเรียนรู้-ดูแลผู้สูงวัย

นักวิชาการชี้ผู้หญิงสูงอายุมากขึ้นกว่าผู้ชาย แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน

 เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “พลเมืองไทย สูงวัยอย่างสมาร์ท” ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “พลเมืองไทย สูงวัยอย่างสมาร์ท”

 
รศ..วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเสนองานวิจัยซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจว่า  สมัยก่อนนั้นเราประสบปัญหาเรื่องประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้รัฐบาลในขณะนั้นได้จัดทำโครงการเพื่อลดจำนวนประชากรในประเทศไทยลง นับว่าโครงการนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้สถิติการมีบุตรของประชากรในไทยคือ 1 ครอบครัว มีบุตรน้อยกว่า 2 คน ในสัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 เป็นต้นมาเพิ่มขึ้นประมาณ 63.8 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 10%ของประชากรทั้งหมด  เปรียบเทียบง่ายๆ คือเมื่อเราเดินไปเจอคน 10 คน เราจะเจอผู้สูงอายุ1 ใน 10 คนนั้น  โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีจะเพิ่มขึ้นเร็วมากคิดอัตราการเพิ่ม 13% ของประชากรทั้งหมด โดยสัดส่วนของผู้หญิงจะกลายเป็นประชากรที่สูงอายุมากขึ้นกว่าผู้ชาย และจะทำให้ประชากรวัยแรงงานของเรานั้นขาดแคลน
 
อาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวอีกว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วมากในประเทศแถบเอเชีย เทียบเท่ากับประเทศสิงคโปร์ที่มีความเป็นกังวลมากเพราะประชากรของเขามีเพียง 4-5 ล้านคนแต่กลับกลายเป็นประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศ  ทั้งนี้ในประเทศแถบยุโรปนั้นใช้เวลานาน 5-10 ปี ในการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัย จึงทำให้ประเทศของเขามีเวลาเตรียมตัวในการสร้างสังคมที่สามารถรองรับกับผู้สูงวัยได้  

สำหรับประเทศไทยนั้นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือคนสูงอายุในประเทศไทยนั้นมีลูกหลานน้อยลง โดยเทียบเป็นอัตราส่วนคนสูงอายุ 80 ปีมีลูก 4-5 คน ที่สามารถคอยดูแลและเกื้อหนุนผู้สูงอายุได้ ที ตาผู้สูงอายุในวัย 50 ปีขณะนี้มีบุตรหลานที่จะคอยเกื้อหนุนได้แค่ครอบครัวละ 2 คนเท่านั้น ซึ่งปัญหาการมีลูกน้อยลงนั้นเป็นเหมือนกันทั้งในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง

 
“เดิมทีในสังคมไทยของเรานั้นผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 90 อยู่กับลูกหลาน แต่ในปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุกว่า50% ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับลูกหลาน ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และผู้สูงอายุก็อยู่กันเองสองตายายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน  ซึ่งในอนาคตของครอบครัวไทยจะ โสด หย่า แยก เพิ่มมากขึ้น  ทำให้มีจำนวนลูกที่เกิดน้อยลงและลูกที่เกิดมาแล้วเติบโตขึ้นมาแล้วก็ย้ายไปทำงานทีอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการพัฒนากระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองแรงงานหนุ่มสาวก็จะต้องไปกระจุกตัวอยู่ในที่สร้างงานต่างๆ เหล่านั้น เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง”รศ.วิพรรณกล่าว
 
รศ..วิพรรณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการทำงานวิจัยของเรานั้นยังพบอีกว่าผู้สูงอายุนั้นเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการเกิดภัยพิบัติต่างๆ และได้รับการฟื้นฟูช้าที่สุดด้วย ซึ่งคำถามใหญ่ตามมาคือใครจะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งโจทย์ใหญ่นี้ท้องถิ่นเองจะต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจเพราะเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้วนั้นกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดและได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วย เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ และแก่ก่อนรวย  ซึ่งเราจะต้องหาแนวทางที่จะช่วยกันทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างยาวนานที่สุดด้วย  นอกจากนี้แล้วคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เองก็ยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องของผู้สูงวัยและมองผู้สูงอายุด้วยทัศนคติเชิงลบเพราะระบบการศึกษาเองก็ไม่ได้สร้างให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้
 
“อยากฝากถึงการศึกษาว่าควรเป็นการศึกษาที่ทำให้เด็กๆ รุ่นใหม่เข้าใจว่าสังคมเรากำลัง่จะกลายเป็นสังคมของผู้สูงวัย ซึ่งคุณครูก็จะต้องหากิจกรรมให้เด็กๆได้เข้าใจ เรียนรู้ และดูแลผู้สูงอายุได้ด้วย ซึ่งท้องถิ่นทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยเสริมระบบเหล่านี้ด้วย”รศ.ดร.วิพรรณกล่าว
 
ด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนการพัฒนาผู้สูงอายุให้สูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพและการให้บริการผู้สูงอายุมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งท้องถิ่นเองก็เช่นกัน โดยการทำงานของท้องถิ่นเริ่มมีบทบาทและชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ มีการวางแผนงานหลักและมีการกำหนดให้ท้องถิ่นจัดบริการให้ผู้สูงอายุให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ใน 13 ด้าน อาทิ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข  ด้านการประกอบอาชีพ  ด้านการลดหย่อนค่าโดยสารและการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ด้านการช่วยเหลือสังคม การช่วยเหลือเบี้ยยังชีพ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่กระทรวงต่างๆ ได้ถ่ายโอนงานมาให้ท้องถิ่นเนื่องจากเห็นว่ามีความใกล้ชิดกับประชาชนและผู้สูงอายุ และมีความคาดหวังว่าท้องถิ่นจะสามารถแก้ปัญหาได้และร่วมสร้างแนวทางในพัฒนาได้เป็นอย่างดี 
 
นายนพดล กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นหนักใจพอสมควร เพราะในบริบทการแก้ปัญหาและการดำเนินการยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะบางเรื่องท้องถิ่นมีอำนาจทำได้ แต่บางเรื่องก็ไม่มีอำนาจ จะต้องรอให้มีคำสั่งแก้ไขก่อน จนส่งผลให้บางครั้งการทำงานเกิดความขัดแย้งหรือการดำเนินงานล่าช้าผิดกับความคาดหวังของประชาชน ดังนั้นเรื่องนี้อย่าหวังเพียงแต่ให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของกระทรวงต่างๆ จะต้องเป็นส่วนสนับสนุนทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย ออกระเบียบที่จะทำให้การทำงานของท้องถิ่นกับการพัฒนาผู้สูงอายุเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
“ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพจากท้องถิ่นกว่า 8 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขของผู้สูงอายุทั้งหมด และตัวเลขของผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากหน่วยงานหลัก กระทรวง ท้องถิ่น ที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสร้างผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพแล้ว ผู้สูงอายุเองก็ต้องร่วมกันออกแบบและหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเองด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการต่างกัน ทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนาธรรม ดังนั้นคนที่รู้ดีที่สุดว่าผู้สูงอายุต้องการอะไรก็คือกลุ่มผู้สูงอายุเอง” นายนพดล กล่าว
 
ด้านนายพายัพ วงษ์อินทร์ ผู้จัดการพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีกล่าวว่า การที่จะเป็นผู้สูงอายุสูงวัยอย่างสมาร์ทนั้นเราจะต้องเป็นผู้ให้ เพื่อทำให้เรามีความสุขและเห็นคุณค่าชีวิตของตัวเองและของผู้อื่นเมากขึ้นด้วย ตนเริ่มการทำงานกับผู้สูงอายุมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยได้ทำงานเป็นอาสาสมัครเข้าไปสำรวจและให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุในพื้นที่จังของตน ซึ่งที่จังหวัดสิงห์บุรีนั้นมีผู้สูงอายุคิดเป็น 18.2% ถือไว่าเป็นสถิติที่เกือบจะมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งในการเข้าไปดูแลผู้สูงอายุในแต่ละครั้งนั้นตนจะสอบถามถึงความต้องการ และทำการประสานความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุดการ โดยในปีแรกที่ดำเนินการ ได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุในพื้นที่ประมาณ 171 คน นำตัวเลขของผู้สูงอายุมาวิเคราะห์จัดลำดับความเดือดร้อน และก็ทำโครงการให้ตรงตามความต้องการของเขาไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรับที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุและการสร้างอาชีพเพื่อจัดหารายได้ให้กับผู้สูงอายุด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง