คาดปรับระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แพทย์สมองไหลไปรพ.เอกชน

สังคม
29 มี.ค. 56
15:18
208
Logo Thai PBS
คาดปรับระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แพทย์สมองไหลไปรพ.เอกชน

การปรับลดอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในโรงพยาบาลชุมชน ส่งผลให้แพทย์แสดงความจำนงขอย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าการปรับลดค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่างจังหวัดที่ต้องการบุคคลากร โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรองรับการเป็นเมดิเคิลฮับตามนโยบายของรัฐบาล

กว่าสัปดาห์แล้วที่ จันเพ็ด จันทะลาด ผู้ป่วยชาวลาวเข้ามารับการรักษาโรคท่อไตตีบ ด้วยวิธีผ่าตัดต่อท่อไต ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย คุณภาพการวินิจฉัย และรักษาโรค ที่แตกต่างกันเป็นปัจจัยที่ทำให้จันเพ็ด เลือกมาใช้บริการในระบบสาธารณสุขของไทย

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพการรักษาโรคเฉพาะทาง ทั้งโรคนิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี โรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อเข่า รวมถึงแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ซึ่งช่วยให้ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงชาวต่างชาติ เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ระยะทางเพียง 30 กม.จากด่านชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย ทำให้แต่ละปี มีชาวลาวเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 คน สร้างรายได้เข้าโรงพยาบาลถึงปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

ศักยภาพการรักษาที่ทัดเทียมกับโรงพยาบาลศูนย์เกิดจากการมีแพทย์เฉพาะหลากหลายสาขา ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้นั่นคือ การมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นแรงจูงใจให้แพทย์เฉพาะทางทำงานในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นและนานมากขึ้น แต่ถูกตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P แล้ว จุดแข็งที่เคยมี อาจหายไป

การตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชนถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการผลักให้แพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ ออกนอกระบบมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือเมดิเคิลฮับ และยิ่งเข้าทางโรงพยาบาลเอกชน ที่เตรียมดึงแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบด้านค่าตอบแทนไปอยู่ด้วย ซึ่งอัตราความเสี่ยงสูญเสียแพทย์ครั้งนี้ จะส่งผลอย่างชัดเจนต่อการรับบริการของประชาชน

นักวิชาการด้านสาธารณสุข วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันวัตถุประสงค์การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดติดแนวชายแดนเปลี่ยนไป จากในอดีตที่เกิดจากการรวมตัวกันของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการการรักษาที่นอกเหนือจากโรงพยาบาลรัฐ แต่ปัจจุบันเกิดจากกลุ่มทุนเข้าควบรวมกิจการโรงพยาบาลในพื้นที่ หวังผลสู่การเป็นเมดิเคิลฮับ เน้นผลกำไร ค่าบริการแพง ทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิเข้าใช้บริการ

สิ่งที่นักวิชาการด้านสาธารณสุขและกลุ่มแพทย์ชนบทเห็นตรงกัน คือ แนวทางการขับเคลื่อนเมดิเคิลฮับ ต้องมาพร้อมกับความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อข้อเท็จจริงยังพบสัดส่วนการบริการ ดูแล รักษาผู้ป่วยในประเทศ ยังไม่สอดคล้องกัน การใชค่าตอบแทนรูปแบบใหม่จึงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่มองว่าจะยิ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการยากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง