บทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 5

29 มี.ค. 56
15:28
82
Logo Thai PBS
บทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 5

แม้กระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ จะสามารถใช้เป็นต้นแบบบางส่วนในการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่กว่าที่กระบวนการทุกอย่างจะเดินหน้าจนถึงขั้นนี้ได้ ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายประการ รวมทั้งการประคับประคองให้สันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่ดำรงอยู่ต่อไปและไม่ให้ล้มเหลว เนื่องจากผลประโยชน์หลังได้อำนาจในการดูแลตัวเอง

การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับกลุ่มเสรีอาเจะห์ หรือ GAM ได้ข้อตกลงหลักรวม 4 ข้อ คือการจัดตั้งเขตปกครองตนเองซึ่งทำให้อาเจะห์ สามารถจัดตั้งพรรคการเมือง จัดการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ และออกแบบกฏหมายในการดูแลท้องถิ่นเฉพาะตัว เช่นกันนำกฏหมายอิสลามมาปรับใช้ โดยไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญประเทศ การแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่แก่อาเจะห์ร้อยละ 70 รัฐบาลกลางร้อยละ 30 เพื่อใช้ในกิจการท้องถิ่น การนิรโทษกรรมสมาชิกกัมทุกคน ยกเว้นผู้กระทำผิดทางอาญา การคืนสัญชาติแก่แกนนำกัม การส่งมอบและทำลายอาวุธ 8,00-1,000 กระบอกแลกกับการถอนทหาร 30,000 นายออกจากพื้นที่ และการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 1.5 ของงบประเทศให้อาเจะห์ 15 ปีติดต่อกัน

<"">
<"">

 

แต่การจะดำเนินการตามข้อตกลง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือการยุติการต่อสู้ ด้วยการส่งมอบและทำลายอาวุธของกลุ่ม GAM ขณะที่กองทัพจะถอนทหาร 30,000 นาย เพื่อแสดงความจริงใจยุติเงื่อนไขความรุนแรง

หลังการถอนทหาร รัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม GAM ให้มีคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติจากยุโรป เอเชีย และอาเซียน หรือ AMM เข้าปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์การปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิง เนื่องจากต่างฝ่ายอาจรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน การเข้ามาของบุคคลที่ 3 เป็นทางเลือกที่ดีได้

ดานี เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มกัม ที่ภายหลังเป็นผู้มีบทบาทในการดูแลกระบวนการปลดอาวุธและถอนทหาร บอกถึงความจำเป็นที่ต้องมีบุคคลที่ 3 จากต่างชาติ เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่โดยเทียบเคียงกับกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยว่า

"เมื่อมีการก่อเหตุ ฝ่ายทหารก็อาจโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มกองกำลัง ขณะที่กลุ่มกองกำลังก็โทษว่าเป็นฝีมือทหาร ดังน้ันปัญหาที่เกิดขึ้นคือการโทษกันไปมา แต่หากมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นคนกลางเข้ามา ก็จะให้ความเชื่อมั่นแก่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ รวมทั้งกดดันทั้งกองทัพและกลุ่มกองกำลังให้ต้องทำตามข้อตกลงหยุดยิง"

แต่แน่นอนว่าการให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ในประเทศ ย่อมกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่ง ดร.ซอฟยัน จัลลิล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารในรัฐบาลประธานาธบดียูโดโยโน่ ยอมรับว่าเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่โจมตีทางการเมืองอย่างหนักหน่วง ท้ายที่สุด ก็ต้องเลือกแนวทางเพื่อสันติภาพ และรอมชอมด้วยการให้ทีมสังเกตการณ์พลเรือนเข้ามาในอาเจะห์ได้ และกำหนดระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ชัดเจน เริ่มต้นวันที่ 15 กันยายน 2548 เสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 15 ธันวาคม 2549  4 วันหลังการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดอาเจะห์เป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง อิร์วาดี ยูซุฟ อดีตสมาชิกกัม และเป็นหนึ่งในคณะผู้เจรจาสันติภาพ

<"">

<"">

 

นอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ สิ่งที่ทำควบคู่กัน คือการเยียวยาโดยรัฐบาลกลาง ผู้ที่ได้รับการเยียวยา คือ อดีตกลุ่มติดอาวุธ นักโทษการเมือง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการชดเชย แบ่งเป็นที่ดินทำกิน การฝึกทักษะอาชีพ และการจัดหาอาชีพ รวมทั้งเงินชดเชยรายละ 25 ล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 80,000 บาท ซึ่งทั้งมหดจะมีคณะกรรมการตัดสนว่ามใครสมควรได้รับการเยียวยาหรือไม่

ยูอันด้า จามาล สมาชิกภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการนักศึกษาอาเจะห์ ที่เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มกัมในช่วงที่มีการต่อสู้ เล่าว่า จนถึงตอนนี้อาเจะห์ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน

"สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ การสร้างประชาธิปไตยของกลุ่มต่างๆในทางการเมือง หากไม่มีการสร้างศักยภาพและให้ศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยแล้ว ก็จะส่งผลต่อการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่น การบริหารการเมือง และการสร้างโครงสร้างการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย" ยูอันด้า จามาล

ในช่วงที่กัมขึ้นบริหาร จังหวัดอาเจะห์ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเมืองหลังสึนามิ มีเงินมหาศาลหลั่งไหลเข้ามา แม้การฟื้นฟูเมืองจะเดินหน้า แต่ภายหลังกลับปรากฏปัญหาเรื่องการดูแลปากท้องประชาชน ทั้งอัตราว่างงานสูง ปัญหาเรื่องงบประมาณท้องถิ่นที่กระจุกตัว เป็นข้อสังเกตเรื่องการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้สัมปทานทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ชัดเจน เปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชั่น
 
และประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มกัม ระหว่างสมาชิกอาวุโสและสมาชิกรุ่นหนุ่มมากที่สุด คือกลุ่มอาวุโสที่กุมอำนาจไม่ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลกลางทำตามข้อตกลงที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน และส่งผลให้กลุ่มรุ่นหนุ่มแยกตัวมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองท้องถิ่นรุนแรงมาก

หนทางที่กำลังดำเนินการ ณ ขณะนี้ คือ การขับเคลื่อนภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อกระตุ้นธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจในอาเจะห์ รวมทั้งวางแผนสร้างฝันอนาคตของอาเจะห์หลังจากนี้ เพื่อให้สันติภาพและความสงบสุขคงอยู่ต่อไป


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง