วุฒิสภา ซักความพร้อม กสทช.เปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล ด้านผู้บริโภค เฉ่ง กสทช.เดินเร็วไป ปชช.ตามไม่ทัน

Logo Thai PBS
วุฒิสภา ซักความพร้อม กสทช.เปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล ด้านผู้บริโภค เฉ่ง กสทช.เดินเร็วไป ปชช.ตามไม่ทัน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา จัดสัมมนา”ทิศทางวิทยุโทรทัศน์สู่ยุคดจิตอล”

 โดย นายชูชาติ สุขสงวน ประธานคณะอนุกรรมธิกการพิจารณาศึกษา และติดตามการดำเนินการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณ จากอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลนั้น จะส่งผลให้มีช่องรายการมีเพิ่มขึ้นในทางเทคนิคได้จาก 6 ช่องฟรีทีวี เป็น 100 ช่อง ภาพมีความชัดกว่าเดิม นำไปสู่การลงทุนโครงข่ายระบบดิจิตอล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 1 แสนล้านบาท โดยการเลือกใช้เทคโนโลยี ดีวีบี- ที2 เป็นมาตรฐานการในการรับส่งสัญญาณ วิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล องค์กรของรัฐ พันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภาระของประชาชนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โทรทัศน์กว่า 22 ล้านครัวเรือนในปัจจุบัน จึงต้องการรับฟังความเห็นจากฝ่ายเกี่ยวข้อง ซี่งมีตัวแทนทั้ง กสทช., ตัวแทนผู้บริโภค,นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และนักกฎหมาย  

 
พันเอกนที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กสทช. ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีระบบดิจิตอล เป็นไปตามกระแสโลก โดยการรับชมโทรทัศน์ที่มีความสำคัญ เกิดขึ้นในปี 2510 ที่เปลี่ยนจากทีวีขาวดำมาเป็นทีวีสี  ส่วนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปเป็นดิจิตอลเริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยประเทศอังกฤษและอเมริกาเป็นผู้เริ่มต้น
 
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน นับเป็น 3% สุดท้ายของกลุ่มประเทศ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นกระบวนการใดๆ ในการเปลี่ยนผ่าน แต่ขณะนี้  ไทยเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านแล้ว และก้าวกระโดดจากระบบดิจิตอลจากยุคที่หนี่ง ไปสู่ยุคที่สองเลย  ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นล่าช้า แต่ข้อดีคือการก้าวสู่ยุคที่เป็นระบบล่าสุดมีความทันสมัย
 
เมื่อกสทช.ปฏฺบัติหน้าที่ จึงเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน จึงเริ่มประกาศแผนและกรอบเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555   และเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นเดือนที่เลือกเทคโนโลยี ที่ใช้ดีวีบีที2 ซึ่งขีดความสามารถในเชิงเทคโนโลยีที่ดีอยู่แล้ว เพราะหลายประเทศประเมินว่า อาจไม่ได้เห็นระบบดิจิตอลในยุคที่3 เกิดขึ้นอีก  
 
ทั้งนี้ หลายประเทศ มีแผนการเปลี่ยนผ่านชัดเจน ซึ่งประเทศไทยเมื่อเริ่มต้นช้า จึงนำปัญหาที่เกิดกับหลายประเทศมาปรับใช้  ซึ่งหลายประเทศใช้เวลานานถึง 5 ปีเฉพาะการตัดสินใจเลือกเทคโนโลยี แต่ไทยใช้เวลาเลือกแค่ 2 ปี
 
ส่วนแผนเปลี่ยนผ่านเป็นระบบดิจิตอล ไทยได้ทำสอดคล้องกับหลายประเทศ และกฎหมายมีกรอบระบุชัดเจนว่า กสทช.ต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล
 
สำหรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านหลายๆ ประเทศ เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงประกอบกิจการ แต่ไทยนั้นจะเห็นว่า เทคโนฯ สามารถแชร์อุปกรณ์กันได้ กสทช.จึงแบ่งออกเป็น โครงข่าย , ช่องรายการ ซึ่งช่องรายการได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือบริการประชาชน ,ภาครัฐ และเอกชน ซี่งการเปลี่ยนแปลงจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล กฎหมายได้ให้เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างประกอบกิจการด้วย
 
นอกจากนี้  กสทช.ได้ออกแผนแม่บทในการเปลี่ยนผ่าน มีครอบคลุมเกี่ยวกับนโยบายเรื่องคลื่นความถี่, การเปลี่ยนผ่านว่าจะทำอย่างไร เพราะโทรทัศน์เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้บริการและเข้าถึง และทำอย่างไรจะให้การเปลี่ยนผ่านกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ,ทำอย่างไรทำให้การเปลี่ยนผ่านทำให้การออกอากาศคู่ขนานจะต้องเป็นผู้ประกอบกิจการรายเดิม และใช้เวลาเปลี่ยนผ่านน้อยที่สุด เพื่อลดภาระผู้ประกอบกิจการ
 
ในแง่ของประชาชนนั้น ทุกประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปแล้ว จะมีมาตรการมารองรับเสมอ โดยกสทช.มีนโนบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน โดยกำหนดว่าเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการประมูลจะนำมาแจกให้ประชาชนซื้อกล่องรับสัญญาณ แต่อยู่ในชั้นหลักการ แต่ก็มีมติในชั้นของบอร์ดกระจายเสียงฯ และมติของบอร์ดกรรมการกองทุนสนับสนุนกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ (กองทุน USO)
 
“ขณะนี้ ขั้นตอนทั้งหมดได้เซทเสร็จไปแล้วประมาณร้อยละ 90 เหลือแค่ขั้นตอนการให้ใบอนุญาต ซึ่งทุกประเทศมีการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตโทรคมนาคม แต่ไทยจะเป็นประเทศแรกเพื่อออกใบอนุญาตประมูลกิจการทางธุรกิจ ประเทศอังกฤษ,ออสเตรเลีย ไม่มีการประมูล แต่อเมริกาเคยมีการประมูลเพื่อนำคลื่นความถี่ไปทำอะไรก็ได้ แต่สุดท้ายคนประมูลได้ก็เลือกเอาไปทำด้านกิจการโทรคมนาคม”
 
พันเอก นที กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญของคลื่นโทรคมนาคมจะทำอย่างไรให้การแข่งขัน นำกำไรเข้าสู่ภาครัฐมากที่สุด ซี่งการประมูลส่วนของวิทยุและโทรทัศน์จะนำเงินประมูลเข้ากองทุนUSO เพื่อนำกลับมาพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ เพื่อให้เกิดการประมูลเพื่อคัดเลือกคนที่มีศักยภาพดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับเนื้อหาที่ดีขึ้น ซึ่งจุดประสงค์การประมูล เป็นการคัดสรรคนที่มีคุณภาพ ซึ่งทั่วโลกและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำลังจับตาดูว่าไทยจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร
 
สาระสำคัญในการเปลี่ยนผ่านต้องดูว่า ทำอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์ ทั้งเทคโนโลยี ,เนื้อหารายการที่ดีกว่าเดิม,จำนวนช่องรายการที่มีมากขึ้น,การรับชมการออกอากาศคู่ขนาน สิ่งสำคัญคือการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะตามเจตนารมย์ของกฎหมาย
 
สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอล มีโครงสร้าง 48 ช่อง แต่มีช่องที่ต้องประมูลรวม 24 ช่อง   แบ่งเป็นช่องเด็ก 3ช่อง, ข่าว 7 ช่อง, ช่องทั่วไป SD 7 ช่อง และ ช่องทั่วไป HD 7 ช่อง โดยการประมูลจะกำหนดไว้ว่า คนที่ต้องการประมูลช่อง HD ไปประมูลช่องข่าวไม่ได้ และคนสนประมูลช่องHD จะประมูลช่องข่าวไม่ได้ เพื่อเป็นการการันตีว่า การเข้าสู่ตลาดจะมีอย่างน้อย 14 รายในเบื้องต้น  แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ช่องเด็ก มีการกำหนดกติกาไว้ล่วงหน้า ว่าการนำเสนอเนื้อหาต้องไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก , ช่องข่าว กำหนดล่วงหน้าเรื่องผังรายการ ต้องมีสาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
 
ขณะนี้ ยังยืนยันแผนเดิมทุกอย่าง ที่เคยกำหนดไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 คือ กรอบการประมูลยังอยู่ที่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2556 แม้มีข้อจำกัด คือกติกา ที่ยังไม่เสร็จอีก 2 ฉบับ คือ หลักเกณฑ์การประมูลเป็นการทั่วไป อยู่ระหว่างรับฟังความเห็น จะแล้วเสร็จเดือนเมษายนนี้ และอีกฉบับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลเป็นการเฉพาะ อยู่ระหว่างจัดทำ ซึ่งแต่ละฉบับจะใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือน ตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์ จนนำไปสู่การเข้าบอร์ดกระจายเสียงฯ กสทช. เพื่อรับรอง และนำประกาศในราชกิจจานุเบกษา  แต่หากจะเกิดความล่าช้า ก็คาดว่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 1-2 เดือน แต่จะไม่เลื่อนไปถึงปีหน้า และพยายามจะทำให้เกิดการประมูลภายในปีนี้ เพื่อที่จะนำเงินประมูลไปพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ และจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนผ่านมาเข้าระบบดิจิตอลเร็วขึ้น
 
ส่วนการกำหนดราคาขั้นต่ำการประมูล มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษามาตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา แต่บอร์ดกระจายเสียงฯ ได้ปรับโครงสร้างช่องรายการใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว  จึงต้องเริ่มศึกษากันตามสูตรใหม่
สำหรับประเด็นการสนับสนุนกล่องรับสัญญาณระบบดิจิตอล นั้น จะเป็นการแจกแบบคูปองเงินสดหรือส่วนลด กสทช.จะไม่แทรแซงกลไกตลาด เพื่อให้ประชาชนเลือกซื้อกล่องรับสัญญาณได้ โดยจะแจกกับทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 1 ใบ ซึ่งเป็นขั้นหลักการ นำไปเป็นส่วนลดซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่รองรับระบบดิจิตอลได้ด้วย โดยมูลค่าคูปอง มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าขั้นต่ำของการประเมินคลื่นความถี่
 
พันเอกนที ยังชี้แจง ถึงการออกมติ 3:2  ให้สิทธิ์ฟรีทีวี ช่อง 5,11 และไทยพีบีเอส ออกอากาศคู่ขนานระบบดิจิตอลไปจนกว่าจะยุติระบบอนาล็อกว่า ไม่ใช่การให้ใบอนุญาต แต่เป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการบังคับให้นำช่องทีวีมาประกอบกิจการบนระบบดิจิตอล ซี่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ จะไม่มีลูกค้าเพิ่มขึ้น เมื่อคนเริ่มรับสัญญาณระบบดิจิตอลมากขึ้นเท่าไหร่ กระบวนการยุติระบบอะนาล็อกจะสิ้นสุดเร็วเท่านั้น  หลังจากกนั้น ผู้ประกอบการฟรีทีวีเดิมจะต้องยื่นของรับใบอนุญาตประเภทต่างๆ   
 
กรณีไทยพีบีเอส แจ้งมาแล้วว่า จะยุติระบบอนาล็อกภายใน 3 ปี ส่วนช่องอื่นๆ ยังไม่ได้ตกลง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องไปตกลงกันว่าจะอยู่ถึงกี่ปี เรายืนยันว่าการทำทีวีดิจิตอล จะต้องทำให้เกิดการแข่งขัน และประชาชนจะต้องไม่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่าน   
 
นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี ซี่งติดตามกฎหมายสื่อสารมวลชน ระบุว่า  ประเด็นการลงมติ 3:2 นั้น ถูกตีความว่าแจกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการไปแล้ว เป็นเรื่องที่กสทช.ต้องสร้างความเข้าใจทางกฎหมายให้ประชาชนรับทราบ เพราะมีคนที่ใช้กฎหมายไปเล่นงาน พันเอกนที หลายต่อหลายครั้ง และทำกระบวนการให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ทำอยู่
  
นายถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถานบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม  ระบุว่า ปัจจุบันคอนเท้นท์ที่ผลิตเกือบทั้งหมดเป็นระบบดิจิตอลอยู่แล้ว ทุกวันนี้ประชาชนรับชมระบบดิจิตอลได้เป็นบางส่วน เช่น ทางยูบีซี, พีเอสไอ ก็เป็นดิจิตอลอยู่แล้ว ซึ่งการรับชมก็ใช้กล่องรับสัญญาณ แต่ต้องใส่รหัส หรือต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น ซึ่งทางกสทช.ควรเร่งผลิตเครื่องที่รับระบบดิจิตอลได้เร็วๆ โดยไม่ต้องใช้กล่องเพื่อที่จะได้ไม่ต้องถอดรหัส
 
ทั้งนี้ ระบบดิจิตอล จะสามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่าระบบอนาล็อกหากอยูในระยะเท่ากัน สัญญาณภาพอนาล็อกจะดูเป็นเม็ดหิมะมากกว่าระบบดิจิตอล เมื่อมีทีวีระบบดิจิตอลจะเห็นสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก และเชื่อว่าการโฆษณาในระบบอนาล็อกนั้นจะแพงกว่าระบบดิจิตอล   
 
ส่วนข้อเสียของการส่งภาคพื้นระบบอนาล็อก เมื่อเวลาสัญญาเทียบกับดาวเทียมจะสู้ไม่ได้ เพราะดาวเทียมตั้งจานที่ไหนก็ได้ในไทย แต่การส่งภาคพื้น หากอยู่ใกล้สถานีจะดี และหากมีตึงบังจะยิ่งเป็นอุปสรรคมากขึ้น
 
ในทางวิชาการระบบโทรคมนาคม กับการกระจายเสียง มีข้อแตกต่างชัดเจน คือโทรคมนาคมจะดูเรื่องการสื่อสารที่เป็น 2 ทาง แต่หากกระจายไปด้านเดียวเรียกว่าเป็นการกระจายเสียง แต่การทำคอนเท้นท์ จะไม่มีแบ่งโทรคมนาคม หรือกระจายเสียง เมื่อเอาคอนเท้นท์ไปใส่ ต้องดูว่ามีส่วนเอาไปใช้อย่างไร ซึ่งระบบทีวีดิจิตอล จะทำให้เกิดได้หลายรูปแบบ เช่น การทำแบบเชื่อมต่อระหว่างเน็ตเวิร์ค จะเป็นระบบโทรศัพท์ หรือ อินเตอร์เน็ต  ในโทรทัศน์สามารถทำเป็นโครงข่ายได้หลายแบบ คือการลิงค์แบบไมโครเวฟ,สายทองแดง และลิงค์แบบออฟติกไฟเบอร์ แต่ประเทศไทย ต้องพัฒนาโครงข่ายให้สมบูรณ์เพื่อให้ระบบดิจิตอลกระจายได้ทั่วประเทศไทย
 
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่า ไม่ได้คัดค้านการปฏิรูปสื่อ แต่วันนี้กสทช.เร่งดำเนินการ แต่หลงลืมที่จะแจ้งให้ประชาชนทราบว่า การเปลี่ยนผ่านมันดี มันด้อยอย่างไร ซี่งกสทช.มีงบประมาณสำหรับใช้สร้างภาพอยู่ แต่งบฯที่จะใช้บอกประชาชนไม่มี ซึ่งพันเอกนทีควรเอางบสร้างภาพมาชี้แจงประชาชนบ้าง ซี่งการจะทำให้คนเข้าใจได้ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจง่ายๆ โดยพันเอกนทีมีบทเรียนมาแล้วจากถูกล้มประมูล 3 จี ฉะนั้นควรต้องรอบคอบกว่าเดิม เพราะหากกสทช.เดินหน้าเรื่องเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลไปอย่างเร็วรวด แต่ประชาชนเดินตามไม่ทัน กสทช.ก็จะกลายเป็นเดี่ยวทระนงไป เดินคนเดียว
 
นอกจากนี้ ในระหว่างที่กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอบ ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรกับช่องรายการในทีวีดาวเทียมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย  
 
ทั้งนี้  พันเอกนที ตั้งเป้าว่าภายใน 4 ปี จะเป็นทีวีดิจิตอลได้ทั้งหมด แต่มีข้อสังเกตว่าการขยายสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการฟรีทีวีรายเดิม ได้สิทธิ์ทดลองออกอากาศคู่ขนานใช้เวลานานถึง 10 ปี มันนานเกินไป
 
สำหรับข้อเสนอของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  คือ กำหนดเงื่อนไขรายเดิมให้สอดคล้องกับคุณสมบัติให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ซี่งระเบียบของบอร์ดกระจายเสียงฯ เขียนไว้กว้างมาก กลับเปิดช่องให้กลุ่มช่องสาธารณะ  สามารถหาโฆษณาได้ ซี่ง กสทช.ไม่ได้มีแค่กฎหมายของกสทช.เท่านั้น แต่เหตุใด ไม่นำกฎหมายของ ไทยพีบีเอส มาพิจารณาร่วม เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การกำหนดคุณสมบัติในการให้ใบอนุญาตกลุ่มนี้
 
นอกจากนี้ การผลิตเนื้อหาทางทีวีดิจิตอล หากผู้ประกอบการใครไม่ทำตามกฎหมาย จะมีบทกำหนดโทษอย่างไร และจะมีเกณฑ์อะไรจะมาป้องกันเรื่องนอมินีในช่องธุรกิจ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการประเคนให้รายใดรายหนึ่ง หรือ ตระกูลใดตระกูลหนึ่งหรือไม่ ถ้าอนาคต หากอนาคตเรื่องนอมินี กสทช.จะแสดงความรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร
 
อีกประเด็น คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้ ร้อยละ 20 ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นกสทช.ประกาศแผนให้กลุ่มนี้ว่า จะทำอย่างไร  พร้อมขอ เรียกร้องให้กสทช.เสนอโครงสร้างบริการช่องสาธารณะที่ชัดเจน เพื่อสะท้อนว่า โปร่งใส และปราศจากการครอบงำจากกลุ่มทุน และการเมือง
 
ส่วนคุณสมบัติของผู้เข้าร่วม ควรต้องรับฟังความเห็น และสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือกฎหมายเขียนชัดเจนว่า ให้กสทช.จัดเวทีรับฟังความเห็นตามกฎหมายกำหนด แต่รับฟังแบบศรีธนชัย ว่ารับฟังมาแล้ว แต่ก็เป็นแบบที่กสทช.กำหนด ซี่งฝ่ายวิชาการควรตรวจสอบว่า ที่กสทช.รับฟังความเห็นไปนั้น มีอะไรไปปรับแก้บ้าง
 
“ควรชะลอการจัดสรรคลื่นความถี่ออกไปก่อน เพราะต้องการให้ค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ความรีบร้อน เพราะการปฏิรูปและเปลี่ยนผ่าน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ ต้องทำให้สังคมรับรู้ เพราะกสทช.เป็นตัวแทนในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติของชาติและประชาชน ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเร่งการสร้างผลงาน อยากให้พันเอกนที มีชื่อเสียงเกิดในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ แบบมีเสียงปรบมือชื่นชน ไม่ใช่เกิดขึ้นแบบมีเสียงครางฮือ”
 
นอกจากนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่แจกกล่องรับสัญญาณนั้น  นักศึกษาตามหอพัก มีสิทธิ์ได้ดูหรือไม่ หรือคนงานตามแคมป์ก่อสร้าง ที่ตระเวนไปเรื่อยๆ จะมีโอกาสได้ดูหรือไม่ ซึ่งกสทช.ต้องสร้างความเป็นธรรมในการกระจายคลื่น เราไม่ต้องการขัดแย้ง  แต่หลายครั้งที่เร่งรีบทำ แล้วไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม ก็ต้องไปเจอกันในศาล  ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรดีที่สุด แต่การทำให้เป็นธรรมที่สุด คิดว่าต้องเป็นเรื่องที่สังคมรับได้
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง