"รัฐบาล-เอกชน"พร้อมรับมือสถานการณ์ไฟฟ้าตก-ดับ หลังพม่าเริ่มหยุดจ่ายก๊าซแล้ว

สังคม
5 เม.ย. 56
04:48
124
Logo Thai PBS
"รัฐบาล-เอกชน"พร้อมรับมือสถานการณ์ไฟฟ้าตก-ดับ หลังพม่าเริ่มหยุดจ่ายก๊าซแล้ว

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันถึงการรับมือด้านไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน ที่พม่าหยุดจ่ายก๊าชธรรมชาติให้กับไทย ขณะนี้หลายหน่วยงานตื่นตัวที่จะป้องกันความเสี่ยงต่อไฟฟ้าตกและดับแล้ว อย่างโรงแรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งก็ได้เตรียมพร้อมเครื่องปั่นไฟสำรอง เพราะไม่มั่นใจว่าจะเกิดกระแสไฟฟ้าตก หรือดับได้หรือไม่

พนักงานโรงแรมในจ.กระบี่ ตรวจซ่อมบำรุงเครื่องปั่นไฟ ระบบจ่ายไฟสำรอง ภายในโรงแรม และสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้พร้อมใช้งาน เป็นระบบสำรองฉุกเฉิน เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่ประเทศพม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน นี้ ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า และอาจทำให้ไฟดับ หรือกระแสไฟฟ้าตกในพื้นที่ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร

นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย นายกสมาคมโรงแรมจ.กระบี่ เปิดเผยว่า โรงแรมขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ร้อยละ 90 ได้มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟเป็นระบบ สำรอง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดับ หรือตกไว้อยู่แล้ว หากช่วงดังกล่าว ไฟดับ หรือ กระแสไฟฟ้าตก คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาจ.กระบี่ กระแสไฟฟ้าตกบ่อยครั้ง

   

ด้านนายสุรพล วงศ์ธัญญกรณ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ จ.กระบี่เปิดเผยว่า การหยุดส่งก๊าซธรรมชาติ ของประเทศพม่า ในเดือนเมษายน จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้น้ำมันเตาผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบร่วมกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ เช่น จ.สุราษฏร์ธานี อีก 2 โรง ได้ตามปกติ

ขณะที่บริษัทวิทยุการบิน เตรียมการป้องกันผลกระทบกับระบบประมวลเรดาร์ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งเครื่องบินขึ้น-ลงไม่ได้กว่า 50 ลำ โดยได้วางแผนร่วมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย การไฟฟ้านครหลวง ติดตามการปล่อยกระแสไฟฟ้า ไปยังศูนย์ปฏิบัติการ 3 แห่งอย่างใกล้ชิด

ขณะที่เมื่อวานนี้ (4เม.ย.56) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก ตามปฏิบัติการ 3 ป. เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนให้ร่วมปฏิบัติการ 3ป. ในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค โดยปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศจาก 25 องศาเซลเซียส เป็น 26 องศา และปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น โดยทั้ง 3 มาตรการจะลดการใช้ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์

   

โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมกันประหยัดพลังงาน ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ เท่านั้น แต่ให้ใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น เพราะพลังงานร้อยละ 55 ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีแนวโน้มจะต้องนำเข้าสูงขึ้นเรื่ิอยๆ

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ หลังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีควันที่ 5 เมษายนนี้ื ได้ประมาณ 800 เมกะวัตต์ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะลดการใช้ไฟได้ประมาณ 107 เมกะวัตต์ ทำให้สำรองไฟฟ้าพร้อมใช้เพิ่มขี้นเป็นเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ยอมรับเป็นห่วงวันที่ 9 และ 10 เมษายน ที่โรงงานจะกลับมาเดินเครื่องผลิต ทำให้สำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 1,440 เมกะวัตต์ จึงขอความร่วมมือให้ประหยัดไฟอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในระยะยาว รัฐบาลมีแผนจะสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังน้ำและถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ แต่แผนดังกล่าว อาจทำได้ในระยะสั้น เพราะมีความเสี่ยงหากเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งในระหว่างนี้ืจึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้ยอมรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง