พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน

การเมือง
5 เม.ย. 56
05:59
1,559
Logo Thai PBS
พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน

สำนักข่าวอิศราจับมือเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) เจาะข่าวการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) พบนักการเมือง มหาเศรษฐี นักร้องดัง หลากอาชีพกว่า 600 ราย เป็นเจ้าของบริษัทในพื้นที่ปลอดภาษีทั่วโลก

 การรายงานข่าวครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักข่าวอิศรากับ ICIJ (www.icij.org) ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนจาก 60 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตของบุคคลทั่วโลกร่วมกันของผู้สื่อข่าว 86 คนจาก 46 ประเทศ และรายงานผ่านทางสื่อกว่า 30 องค์กรทั่วโลก เช่นหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดี้ยน (The Guardian ) และสถานีโทรทัศน์ บีบีซี ของประเทศอังกฤษ หนังสือพิมพ์ เลอมองด์ (Le Monde ) ของฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐฯ รวมทั้งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ของประเทศไทย

 
ที่มาจากข้อมูลในความครอบครองของ ICIJ ในครั้งนี้ ได้มาจากฐานข้อมูลลับของบริษัทนายหน้าให้บริการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตใหญ่ระดับโลกสองราย  คือ บริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์แต่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ และบริษัทคอมมอนเวลธ์ ทรัสต์ ลิมิดเต็ด (Commonwealth Trust Limited) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยประกอบด้วยไฟล์ทั้งหมด 2.5 ล้านไฟล์ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและตัวแทนบุคคล 130,000 ราย และบริษัทนอกอาณาเขต 120,000 บริษัท
 
แม้ว่าการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งหมายถึงบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศหรือเขตปกครองที่มีกฏหมายปลอดภาษีและกฏหมายที่เอื้อต่อการปกปิดข้อมูลบริษัท จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย  แต่ข้อได้เปรียบเรื่องปลอดภาษีและการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัท ทำให้โดยอาชญากร นักธุรกิจ และนักการเมืองทั่วโลกใช้บริษัทนอกอาณาเขตในการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่นการเลี่ยงภาษี และการปกปิดการถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น
 
สำหรับประเทศพบว่า มีชื่อบุคคลและบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกว่า 600 ราย ที่เป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต พื้นที่ต่างๆทั่วโลก เช่น บริติช เวอร์จิ้น, เมอริเชียส และแกรนด์ เคย์แมน 
 
ในจำนวนนี้ นอกจากเจ้าของกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ แล้ว  ยังมี นักการเมืองและสมาชิกในครอบครัว, ตระกูลนักธุรกิจใหญ่, อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้อยู่ในวงการบันเทิงบางราย เช่น นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย, คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร,  นาย บรรณพจน์ ดามาพงศ์, นาย ประเสริฐ ประคุณศึกษาภัณฑ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น, นายสุทธิรรม จิราธิวัฒน์, นายอิสระ ว่องกุศลกิจร่วมกับสมาชิกในตระกูลว่องกุศลกิจบางราย และนักร้องชื่อดัง “แอ้ด คาราบาว”
 
ข้อมูลจากบริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ตชี้ว่า ในปี 2550 คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าผู้รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวของบริษัท พรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์ (Premium Select Inc) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยใช้บริการของ UBS AG ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้บริษัทนอมินีที่จดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จิ้นสองบริษัท คือบริษัทเอ็กซ์คอร์ป ลิมิดเต็ด (Excorp Limited) และ แชร์คอร์ป ลิมิดเต็ด (Sharecrop Limited) จดทะเบียนผู้อำนายการและผู้ถือหุ้นของบริษัทพรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์ตามลำดับ
 
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีคุณหญิงพจมานได้ใช้ประโยชน์บริษัทพรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์หรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามพบว่าคุณหญิงพจมานไม่ได้จ่ายเงินค่าต่อใบอนุญาตบริษัทในปีถัดมา 
 
ในขณะเดียวกัน พบว่านายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท บริษัทที่บริติชเวอร์จิ้น จำนวนสองบริษัท โดยในปี 2547 นายบรรณพจน์จดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท บาวน์ตี้ ฮาร์เวสต์ คอร์เปอเรชั่น (Bounty Harvest Corperation) โดยใช้บริษัทนอมินีเดียวกันกับคุณหญิงพจมานจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้น ไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกันว่าบริษัทบาวน์ตี้ ฮาร์เวสต์ คอร์เปอเรชั่นทำธุรกิจประเภทใด แต่บริษัทได้ปิดตัวลงในปี 2552
 
ในปี 2549 นายบรรณพจน์ซื้อบริษัททรอปปิก ออฟชอร์ โฮลดิ้ง อิ้งค์ (Tropic Offshore Holding Inc) และจดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม พบว่าชื่อเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ได้เปลี่ยนจากนายบรรณพจน์เป็นนาย กาลิด โมฮัมหมัด กาดฟอร์ อัลเมไฮรี (Khalid Mohamad Kadfoor Almehairi) ในปี 255 การจดทะเบียนบริษัททั้งสองบริษัททำผ่านบริการของ UBS AG สิงคโปร์เช่นเดียวกับคุณหญิงพจมาน
 
ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ผ่านทนายความส่วนตัว เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่ไม่สามารถติดต่อได้ 
 
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวชินวัตร กล่าวว่า “ผมไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องนี้ ได้ เพราะรับผิดชอบงานที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเข้าใจว่ามีทนายความคนอื่นดูแลอยู่”
 
นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย(พท.) ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณในคดีการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ของคุหญิงพจมาน กล่าวว่า“ผมรับผิดชอบดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินรัชดาเท่านั้นคงไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แต่เท่าที่ทราบข้อมูลที่ระบุว่า คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ มีบริษัทอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้นน่าจะเป็นข้อมูลเก่า”
 
“เรื่องนี้น่าจะไปสอบถามคุณสมพร (พงษ์สุวรรณ) ทนายความส่วนตัวคุณหญิงพจมานที่รับผิดชอบคดียึดทรัพย์โดยตรงน่าจะดีกว่า”
 
ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความส่วนตัวคุณหญิงพจมาน หลายครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยนายสมพรไม่ติดต่อกลับหลังจากที่ได้ฝากข้อความไว้ที่ บริษัทสมพร แอนด์แอสโซซิเอทส์ จํากัด ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายของนายสมพร
 
นักการเมืองอีกผู้หนึ่งซึ่งมีชื่อในฐานข้อมูลคือนายประเสริฐ ประคูณศึกษาภัณฑ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดของแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเมทัลสิงค์ ไปรเวท ลิมิดเต็ด (Metalsing Private Limited) ที่ประเทศสิงคโปร์ร่วมกับภรรยาและบุตร ซึ่งนายประเสริฐได้รายงานการถือหุ้นบริษัทดังกล่าวในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่งวุฒิสมาชิกเมื่อ พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศราไม่สามารถติดต่อนายประเสริฐเเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ได้
 
พล ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท วีเน็ต แคปิตอล อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด (Vnet Capital International Limited) ร่วมกับนักธุรกิจชาวไทยกลุ่มหนึ่ง ในปี 2541 พล ร.อ. บรรณวิทย์เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนเองซื้อหุ้นบริษัทนี้ในจำนวนไม่มากโดยถือเป็นการลงทุน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารของบริษัทแต่ประการใด
 
“ผมซื้อหุ้นจำนวนน้อยเป็นการลงทุนส่วนตัว โดยคุณณรงค์ อินทเนตร ซึ่งพบกันในการประชุมกรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตปทุมวันด้วยกันเป็นคนชวน แต่ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของบริษัท เข้าใจว่าขณะนี้บริษัทได้แปรสภาพไปแล้ว”  พล ร.อ. บรรณวิทย์กล่าวและยืนยันว่าข้อมูลถูกต้องเมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าบริษัทนี้ตั้งอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้นใช่หรือไม่ 
 
นอกจากนักการเมืองแล้ว  ยังพบว่ามีสมาชิกในตระกูลนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศไทยจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต เช่นนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ที่จดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นของบริษัท เดลี่ เลเจ้น อินเวสทเม้นท์ ลิมิดเต็ด (Daily Legend Investment Limited) เมื่อปี 2551 โดยใช้บริการของ โกลด์แมน แซคส์ (เอเซีย) แอลแอลซี ในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้ยุติการทำงานในปีถัดมา 
 
นอกจากนั้นยังพบชื่อนายศักดิ์ชัย จิราธิวัฒน์ และนางสุรางค์รัตน์ จิราฒิวัฒน์ ภรรรยามีบริษัทชื่อ วินเทจ โกลด์ อินเวสต์เม้นท์ ลิมิดเต็ด (Vintage Gold Investment Limited) ที่บริติช เวอรืจิ้น เมื่อปี 2551 โดยบริษัทนี้จดทะเบียนผ่านบริการของ โกลด์แมน แซคส์ (เอเซีย) แอลแอลซี ในฮ่องกงเช่นเดียวกัน 
 
เมื่อผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เลขานุการของนายสุทธิธรรมแจ้งว่า นายสุทธิธรรมเดินทางไปต่างประเทศและยังไม่แจ้งกำหนดกลับที่แน่นอน ในขณะที่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อนายศักดิ์ชัยและนางสุรางค์รัตน์เพื่อขอสัมภาษณ์ได้ 
 
สมาชิกตระกูลธุรกิจรายใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตคือนายอิสระ ว่องกุศลกิจ และสมาชิกในครอบครัวอีก 4 คนซึ่งทั้งหมดเป็นผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลมิตรผล โดย ปรากฏชื่อร่วมกันเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท แพน เอเซีย ชูการ์ ฟันด์ ลิมิดเต็ด (Pan-Asia Sugar Fund Limited) ที่เกาะแกรนด์ เคแมน โดยบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนก่อตั้งในปี 2541 ผ่านบริการของบริษัทเบเกอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ที่ฮ่องกง 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง