"เรน่า ดุยแนน" กับสารคดีช่วยชีวิต "คนญี่ปุ่น" หาทางออกที่นอกเหนือจากความตาย

Logo Thai PBS
"เรน่า ดุยแนน" กับสารคดีช่วยชีวิต "คนญี่ปุ่น" หาทางออกที่นอกเหนือจากความตาย

ความไม่เข้าใจว่า เหตุใดดินแดนน่าอยู่เช่น "ญี่ปุ่น" จึงมีอัตราคนฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง ทำให้ชาวไอริชคนหนึ่งซึ่งอาศัยที่นั่นเป็นเวลา 15 ปี สืบค้นข้อมูล และถ่ายทอดในสารคดีหวังช่วยผู้คนแดนอาทิตย์อุทัยพบทางออกชีวิตที่ไม่ใช่ความตาย

หลังเพื่อนบ้านที่รู้จักต้องจากไปด้วยการฆ่าตัวตาย ทำให้ "เรน่า ดุยแนน" นักเศรษฐศาสตร์ชาวไอริช ที่อาศัยในญี่ปุ่นมานานถึง 15 ปี ตัดสินใจหาคำตอบว่า เหตุใดชาวอาทิตย์อุทัย ที่อยู่แวดล้อมด้วยบรรยากาศสวยงาม และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมจึงเลือกปลิดชีวิตตัวเองในอัตราค่อนข้างสูง แต่แทนที่จะเขียนบทความที่อาจไม่มีใครอ่าน เขาได้หาเวลาว่างจากการสอนหนังสือมาผลิตสารคดีเรื่อง Saving 10,000--Winning a War on Suicide in Japan เพื่อหาเหตุจูงใจในการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่น หวังหาเหตุของปัญหาเพื่อลดการฆ่าตัวตาย

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า หลังวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1998 มีอัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นเกินหลัก 30,000 คนทุกปี โดยเกือบร้อยละ 20 ของผู้ป่วยฉุกเฉินมาจากพยายามฆ่าตัวตาย และผลสำรวจยังพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรมีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย

โดยกลุ่มคนที่มีแนวโน้มคิดปลิดชีพตัวเองที่สุด ได้แก่ คนที่ติดการพนัน ซึ่งหลายรายที่มีประกันชีวิตเลือกใช้วิธีนี้ปลดหนี้พนันให้กับครอบครัว นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคม, ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน, ความรุนแรงในครอบครัว, ติดสุรา และอินเทอร์เน็ท รวมถึงธุรกิจทางเพศ

   

ซึ่งนักบวชย่านชินจุกุในโตเกียว ยอมรับว่า ศพที่ทางวัดต้องทำให้บ่อยที่สุดคือสาว ๆ จากต่างจังหวัด ที่เข้ามาเสี่ยงโชคในย่านนี้ และพบว่า ถูกหลอกเป็นเหยื่อในธุรกิจค้ากาม จึงเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

สาเหตุที่ทำให้การป้องกันการฆ่าตัวตายล้มเหลว มาจากความไร้ประสิทธิภาพของระบบดูแลสุขภาพจิต ทั้งการขาดแคลนจิตแพทย์ พฤติกรรมการกินยาแทนการเข้ารับการบำบัด ขณะที่สายด่วนที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้พยายามฆ่าตัวตายก็ไม่พอเพียงกับความต้องการ

หลังสารคดีออกฉายปลายปีที่แล้ว วันนี้ผลงานของ เรน่า ดุยแนน ได้รับความสนใจมากขึ้น และได้รับเชิญจากสำนักงานป้องกันการฆ่าตัวตายไปร่วมอภิปรายหลายครั้ง ทั้งยังนำสารคดีเรื่องนี้ไปฉายในรัฐสภา ซึ่งเขายอมรับว่า การลดจำนวนคนฆ่าตัวตายให้ได้เป็นหมื่นคนต่อปีเป็นงานที่ยากลำบาก

แม้ปีที่แล้วอัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นจะต่ำกว่า 30,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี แต่ก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นในเดือนมกราคม เขาจึงอัพโหลดสารคดีทั้งเรื่องบนเว็บไซต์ยูทูบ หวังให้เรื่องราวที่นำเสนอช่วยให้คนที่คิดปลิดชีพตัวเองฉุกคิดหาทางออกที่ดีกว่าการหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง