"จับตา" 2 ส.ว.หญิง ชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา

การเมือง
9 เม.ย. 56
07:52
121
Logo Thai PBS
"จับตา" 2 ส.ว.หญิง ชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา

ส.ว.หญิง สายเลือกตั้ง 2 คน ถูกคาดการณ์ว่าจะได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 จากผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อและผู้ที่แสดงเจตจำนงค์ลงสมัคร เพื่อเข้าสู่การคัดเลือกเลือกตั้ง 4 คนด้วยกัน ทั้งนี้มีแนวโน้มว่า ส.ว.หญิงสายเลือกตั้ง 1 ใน 2 คนนี้ จะได้รับเลือกในครั้งนี้

วุฒิสภา โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เรียกประชุม เพื่อพิจารณาเลือก รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 แทนนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทรรัตนปรีดา ที่ลาออก หลังทำหน้าที่ครบ 2 ปีตามเจตนาที่แสดงวิสัยทัศน์ที่จะสลับสับเปลี่ยนให้ส.ว.คนอื่นได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้วย

สำหรับผู้ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง ประกอบไปด้วย นายอนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ ซึ่งในอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข,นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เคยผ่านงานในระดับ รองประธานคณะกรรมาธิการประจำวุฒิสภามาแล้ว ทั้งด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศ

ขณะที่นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ก่อนหน้านี้เคยเป็นถึงประธานอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุชุมนุมทางการเมือง ที่กระทรวงมหาดไทย ปี 2552 ส่วนน.ส.สุมล สุตะวิริยวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ผลงานล่าสุดในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอหารือคดีปราสาทพระวิหาร

การชิงเก้าอี้ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ครั้งนี้ มีแนวโน้มของการสนับสนุนและแข่งขันกันสูง ระหว่าง ส.ว.หญิง คือ นางนฤมล และน.ส.วสุมล เนื่องจากที่ผ่านมาตำแหน่งนี้ เป็นของส.ว.หญิงมาโดยตลอด ด้วยวุฒิสภามีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการให้โอกาส ส.ว.หญิง ได้แสดงศักยภาพการเป็นผู้นำ ที่ไม่ต่างจาก ส.ว.ชาย และนับตั้งแต่ปี 2550 จะเห็นว่า ส.ว.หญิงจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด ตั้งแต่น.ส.ทัศนา บุญทอง ส.ว.สรรหา จนถึงนางพรทิพย์ ที่ลาออกครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ผู้ได้รับเลือกครั้งนี้ น่าจะเป็น นางนฤมล ซึ่งมีรายงานว่า ส.ว.เลือกตั้งเกือบทั้งหมด และส.ว.สรรหาบางส่วน ที่มีบทบาทสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะให้การสนับสนุนนางนฤมล เพื่อได้ทำหน้าที่นี้ ส่วนนางสุมล จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ในกลุ่ม 40 ซึ่งมีทั้งสายเลือกตั้งและสรรหา โดยส่วนใหญ่ส.ว.ในกลุ่มนี้จะมีบทบาทตรวจสอบรัฐบาล และระหว่างการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญก็เห็นด้วยกับกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง