สรุปถ้อยแถลงคดีปราสาทพระวิหาร

ต่างประเทศ
17 เม.ย. 56
16:30
292
Logo Thai PBS
สรุปถ้อยแถลงคดีปราสาทพระวิหาร

กำลังใกล้จะจบลงแล้วสำหรับการชี้แจงด้วยวาจาของทีมทนายความฝ่ายไทยในยกแรกวันนี้ เพื่อตอบโต้ข้อชี้แจงของฝ่ายกัมพูชาที่มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ทีมกฎหมายฝ่ายไทยยืนยันว่ากัมพูชาพยายามที่จะยื่นคำอุทธรณ์ และพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ไม่ได้เป็นการขอตีความคำพิพากษา

เวลา 15.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทย ขึ้นชี้แจงด้วยวาจา นายวีรชัย ระบุว่าไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2505 และกัมพูชาไม่เคยประท้วง จนกระทั่งกัมพูชาได้นำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งกระทบต่ออธิปไตยของไทย

นายวีรชัยระบุว่าต้นปี 2543 กัมพูชาพยายามรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย และการปะทะกันตามแนวชายแดนล้วนแต่เกิดจากการรุกล้ำ ยั่วยุของฝ่ายกัมพูชา และบอกว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของกัมพูชาก็คือต้องการพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทย เพื่อไปร่วมกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

และได้ระบุถึง MOU 2543 ที่ระบุถึงสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม และ 2 ฝ่ายเข้าใจว่าต้องหาข้อยุติบริเวณเขตแดนปราสาทพระวิหารร่วมกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาปี 2505 โดยระบุว่าฝ่ายไทยตกลงในกระบวนการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันภายใต้บันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ซึ่งกระบวนการนี้เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างถึงในปัจจุบันด้วย

โดยที่ผ่านมาไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาซึ่งได้รับการยอมรับแล้วโดยประมุขของกัมพูชาในสมัยนั้น ซึ่งเสด็จปราสาทไม่นานหลังจากนั้น แต่ 50 ปีผ่านไป กัมพูชากลับมาขอโดยแฝงในคำขอตีความให้ศาลให้ในสิ่งที่ศาลปฏิเสธอย่างชัดแจ้ง

ถัดมา ศ.โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ ขึ้นชี้แจงด้วยวาจา โดยระบุว่ากัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษา แต่เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเพื่อให้ศาลตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1:200000 หรือระวางดงรัก ซึ่งศาลปฏิเสธที่จะตัดสินไปแล้วในปี 2505 เพราะศาลวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ได้

การที่กัมพูชาย้ำว่าศาลต้องตีความย้ำว่าปราสาทพระวิหาร และพื้นที่โดยรอบเป็นของกัมพูชาโดยยึดแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นการขอให้ศาลพูดซ้ำในสิ่งที่ศาลพูดไปแล้ว ซึ่งทำให้เสียเวลา และไม่เกิดผลใดๆ จึงถือว่ากัมพูชาอำพรางคำถามในการยื่นขอให้ศาลตีความ

ท่านถัดไปเป็นทนายความผู้หญิงคือ อลิน่า มิรอง เป็นคนโรมาเนีย และเป็นศิษย์เอกของ ศ.อแลง แปลเล่ต์ โดย อลิน่า มิรอง ลงรายละเอียดเรื่องแผนที่ที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ว่าที่จริงมีหลายพื้นที่ และหลายรูปแบบ ไม่ใช่รูปแบบเดียวตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาต้องการอ้าง โดยย้ำถึงความบกพร่องของแผนที่อัตราส่วน 1:200000

มิรอง ย้ำว่าคำร้องของกัมพูชาได้ใช้แผนที่มาอ้างอิงหลายฉบับ สังเกตได้จากคำว่า maps เป็นพหูพจน์ จึงขอให้คณะผู้พิพากษาพิจารณาให้รอบคอบ

ถัดจากนั้นคือ ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความสัญชาติฝรั่งเศส ได้พูดถึงหลักฐานที่เจ้านโรดม สีหนุ เคยเสด็จไปบริเวณรั้วลวดหนาม หลังจากคำพิพากษาปี 2505 และบอกไม่ได้มีท่าทีทักท้วงรั้วลวดหนาม ในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐแล้วไม่แสดงท่าทีทักท้วงย่อมแสดงว่ายอมรับเส้นเขตแดนของไทย

ศ.เจมส์ ครอฟอร์ด ชาวออสเตรเลียระบุว่าขอบเขตอำนาจของศาลในปี 2505 ศาลกำหนดไว้แล้วว่าจะไม่ตัดสินเรื่องเขตแดน จึงมีคำถามว่าคำร้องของกัมพูชาครั้งนี้คืออะไรกันแน่

ที่ได้รับคำชื่นชม และพูดถึงกันมากในการชี้แจงด้วยวาจาวันนี้ และเมื่อขึ้นพูดดูเหมือนบรรยากาศจะนุ่มนวล แต่เต็มไปด้วยเนื้อหา คือ อลิน่า มิรอง ทนายความผู้ช่วยของ ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความชาวฝรั่งเศส มิรอง เป็นทนายความชาวโรมาเนีย ที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ ชี้แจงได้น่าประทับใจ โดยเฉพาะการใช้ Big Map

อลิน่า มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย ชี้แจงเป็นภาษาฝรั่งเศส ที่สร้างความประทับใจให้กับคณะทำงานฝ่ายไทย และผู้ติดตามการชี้แจงครั้งนี้อย่างมาก มิรอง แถลงอย่างสุภาพ ตรงไปตรงมา เนื้อหาที่มิรองใช้คือเรื่องแผนที่ โดยใช้เหตุผลที่ผ่านการเก็บข้อมูลอย่างหนักเพื่อมาหักล้างแผนที่ภาคผนวก1 หรือ Annex One ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างมาโดยตลอด

มิรอง ใช้ map sheet 3 ที่ได้มาจากภาพถ่ายทางอากาศของอเมริกัน ผสมกับการสำรวจในพื้นที่จริง โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ที่รับฟังการชี้แจงด้วยวาจา ระบุว่า map sheet 3 หรือ big map เป็นแผนที่ที่ใช้แสดงในการให้การด้วยวาจาของ ศ.สเกมาฮอน ต่อศาลเมื่อ 15 มีนาคม 2505

ศาลได้สกัด the big map เฉพาะส่วนสำคัญออกมา 45 เปอร์เซ็นต์ และอลิน่า มิรอง นำมาแสดงอีกครั้งต่อศาลหลังเวลาผ่านไป 51 ปี แต่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงนำมาแสดงได้อย่างชัดเจน

ประเด็นสำคัญของมิรอง คือแผนที่ที่กัมพูชานำมาเสนอมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ และระบุว่าคำขอของกัมพูชาเพื่อศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาล เห็นชอบแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85D เท่ากับกัมพูชาต้องการขยายอาณาเขตเพิ่มเติมมาในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วย

อลิน่า มิรอง ทำงานร่วมกับ ศ.อแลง แปลเล่ต์ มา 3 ปี และทำงานร่วมกับมาร์ติน แพรตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก IBRU สำนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัย Durham ประเทศอังกฤษ IBRU เป็นสถาบันที่เก็บข้อมูล และศึกษาแผนที่ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนพื้นดิน และน่านน้ำทางทะเล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง