นักวิชาการแนะไทยโต้กลับกัมพูชา "ข้อมูลสับสน-ไม่แน่นอน" ในคดีเขาพระวิหาร

การเมือง
19 เม.ย. 56
04:55
118
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะไทยโต้กลับกัมพูชา "ข้อมูลสับสน-ไม่แน่นอน" ในคดีเขาพระวิหาร

บรรยากาศตามแนวชายแดนด้านจ.ศรีสะเกษ ยังเป็นปกติ แม้จะยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนในพื้นที่ ขณะที่นักวิชาการมองแนวทางการต่อสู้คดีของไทยในวันนี้ (19 เม.ย.56) คือ สิ่งที่ไทยควรใช้ตอบโต้ฝ่ายกัมพูชา คือ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการให้ถ้อยคำ ที่จะพยายามหาประเด็นใหม่มากล่าวอ้างตลอดเวลา

หลังการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกเป็นวันที่ 2 ของกัมพูชา นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ มีความเห็นว่า การแถลงด้วยวาจาที่ผ่านมา ก่อนถึงวันสุดท้ายในวันนี้ ต้องถือว่า ขณะนี้ไทยยังเป็นต่อ เพราะนอกจากความชัดเจนในการชี้แจงแล้ว สิ่งที่กลายเป็นจุดอ่อนของกัมพูชาในการให้ถ้อยคำเมื่อวานนี้ (18เม.ย.56) ก็คือ การเลือกหยิบประเด็นในการตอบโต้ไทยเป็นรายประเด็น มากกว่าการพยายามชี้แจงภาพรวม ขณะที่การชี้แจงของฝ่ายไทยวันที่ 2 ในวันนี้ สิ่งที่ไทยต้องชี้ให้ศาลเห็น คือ ความไม่แน่นอนของกัมพูชา ที่ให้ข้อมูลสับสน และพยายามตอบโต้ในประเด็นเล็กประเด็นน้อย

ขณะที่บรรยากาศตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านอ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ยังคงเป็นปกติ โดยทหารกองกำลังสุรนารี ยังคงตั้งด่านบริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร 3 จุด และไม่อนุญาตให้ประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนผามออีแดง หลังพบว่า ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนในพื้นที่

ขณะที่ชาวกัมพูชาและผู้ประกอบการที่ตลาดการค้าชายแดนช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ติดตามข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ทั้งไทยและกัมพูชา โดยส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลทั้งสองประเทศเจรจาเรื่องเขตแดนร่วมกัน เพื่อป้องกันผลกกระทบต่อการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ รองประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ติดตามการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาตลอดทั้ง 2 วัน แสดงความกังวลถึงผลกระทบด้านการทูต ความมั่นคง และเขตแดน ซึ่งอาจรุนแรงจนนำไปสู่การปิดด่านพรมแดนได้

ส่วนประชาชนในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยบางส่วนเชื่อว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร อาจสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ จึงอยากให้มีการตกลงด้วยความสันติ ขณะที่บางส่วนเชื่อว่า ในที่สุดท้าย ศาลโลกจะไม่มีการกำหนดเขตแดนใหม่ และอาจจะยึดคำตัดสินเดิม เมื่อ 50 ปีก่อน เพื่อป้องกันไม่ไห้เกิดความขัดแย้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง