"นักวิชาการ"เห็นพ้องเสนอแก้ รธน.หมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

2 พ.ค. 56
14:19
77
Logo Thai PBS
"นักวิชาการ"เห็นพ้องเสนอแก้ รธน.หมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

นักวิชาการและนักกฎหมาย เสนอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพบังคับ หมวดที่ 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยเฉพาะกรณีการแถลงผลงานต่อรัฐสภาทุก 1 ปี และกลไกที่ว่าด้วยธรรมนูญการคลัง หลังพบว่า นโยบายของรัฐโดยส่วนใหญ่เป็น นโยบายประชานิยม ซึ่งส่งผลต่อระเบียบวินัยการเงินการคลัง และในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่พึงกระทำอย่างจริงจัง

ระหว่างแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีของสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของสังคมไทย ต่อมุมมองแห่งอนาคตภายใต้โครงการศึกษารัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวยอมรับว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบการเมืองการปกครองที่เอื้อต่อการกระจายรายได้และสวัสดิการให้กับประชาชนมากที่สุด แต่ก็มีจุดอ่อนของการก่อเกิดพฤติการณ์รวบอำนาจเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว และนำมาซึ่งความเสี่ยงทางการเงินการคลัง โดยผ่านการกำหนดนโนบายด้านประชานิยม

 
และพฤติการณ์ที่ว่า ก็เกิดขึ้นกับรัฐบาล ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อการกำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550 โดยสาเหตุของปัญหาคือความไม่ชัดเจนในสภาพบังคับ ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มกลไกธรรมนูญการคลัง ในการตรากฎหมายงบประมาณ,การจัดทำงบกลาง และออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง และหยิบยกร่างพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท มาชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องที่ว่านี้
 
สำหรับกลไกและการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า การกำหนดให้มีแนวนโยบายพื้นฐานรัฐ ถือเป็นแนวทางที่กำหนดให้รัฐบาลต้องตรากฎหมายและกำหนดนโยบายที่ต้องดำเนินการแก่ประชาชน แต่ก็เสนอว่า ควรมีการตรวจสอบว่า รัฐบาลมีการบริหารงานภายใต้กรอบนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากผลการศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในหลายรัฐบาล ต่างกำหนดแนวนโยบายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงร้อยละ 25 ตามข้อบัญญัติทั้งหมด รวมถึงการแถลงผลการดำเนินงานไม่ตรงต่อเวลา
 
ขณะที่นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญของไทย สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของผู้แก้ โดยเฉพาะการรัฐธรรมนูญ 2540 ที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เสมือนกำลังนำทุกเรื่องทุกบริบทของการเมืองการปกครองมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเหตุให้ประเทศสูญเสียโอกาส สูญเสียความเข้มแข็ง รวมถึงเป็นที่มาของการสร้างระบบเผด็จการรัฐสภา ดังนั้นผู้ยกร่างหรือผู้แก้ ควรมีวิสัยทัศน์และมีอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อส่วนรวม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง