สำรวจความเสียหาย "ป่าต้นน้ำ" ภาคใต้ หลังถูกบุกรุกเป็นพื้นที่การเกษตรนับพันไร่

5 พ.ค. 56
15:26
316
Logo Thai PBS
สำรวจความเสียหาย "ป่าต้นน้ำ" ภาคใต้ หลังถูกบุกรุกเป็นพื้นที่การเกษตรนับพันไร่

ป่าเทือกเขาบรรทัดเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ แต่ขณะนี้ พบการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อครอบครองทำการเกษตรเสียหายแล้วนับพันไร่ โดยเฉพาะในอ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยข้อมูลจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าในพื้นที่พบว่า มีนายทุนในขบวนการลักลอบตัดไม้เถื่อนอยู่อย่างน้อย 5 กลุ่ม และส่วนใหญ่มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง

เครือข่ายชมรมอนุรักษ์น้ำตกท่าช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง นำทีมข่าวไทยพีเอสสำรวจการบุกรุกทำลายป่าบริเวนเทือกเขาบรรทัดในอ.ตะโหมด หนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีการลักลอบตัดไม้เถื่อนต่อเนื่องกันหลายปี การเดินสำรวจพบว่าพื้นที่ป่า ทั้งที่เป็นป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติถูกบุกรุกทำลายเป็นบริเวนกว้าง ป่าได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ไร่ และส่วนใหญ่ถูกแปรสภาพเป็นสวนยางพารา

ต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกขบวนการตัดไม้เถื่อนตัดโค่นทิ้งไว้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาหัวช้าง ซึ่งเครือข่ายชมรมอนุรักษ์น้ำตกท่าช้างระบุว่า เฉพาะอำเภอตะโหมดเพียงอำเภอเดียว มีขบวนการลักลอบตัดไม้เถื่อนอยู่อย่างน้อย 5 กลุ่ม และส่วนใหญ่มีผู้นำท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ส่วนการชักลากไม้ออกจากป่า นอกจากการใช้ช้างแล้ว ยังมีการใช้กระบือในการชักลากไม้ด้วย

   

เทือกเขาบรรทัดถือเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของจ.พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล โดยมีพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 800,000 ไร่ แต่กำลังของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงช่องว่างในการดูแลพื้นที่ป่าระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ป่าถูกบุกรุกใช้ประโยชน์จากประชาชนและนายทุน จนเหลือพื้นที่ป่าสมบูรณ์เพียงแค่ประมาณ 700,000 ไร่

ส่วนจ.พัทลุงมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,400 ตารางกิโลเมตร และข้อมูลจากการแปรภาพถ่ายทางดาวเทียมปี 2554 พบว่า มีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 646 ตารางกิโลเมตร หรือเพียงแค่ร้อยละ 19 ซึ่งผู้ว่าราชการจ.พัทลุงจึงระบุว่า จากนี้ไปจำเป็นต้องใช้นโยบายป้องกันรักษาป่าอย่างเข้มงวด และอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่และผู้นำท้องถิ่นซึ่งมีส่วนรู้เห็นกับการบุกรุกทำลายป่า

เพื่อแก้ปัญหาการรุกป่าเพิ่มเติมประชาคมอ.ตะโหมด จ.พัทลุง ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ จึงได้มีข้อตกลง ที่จะร่วมกันยึดคืนผืนป่า ซึ่งถูกบุกรุกจากประชาชนและนายทุนแล้วแปรสภาพเป็นสวนยางพารา กลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินเพื่อเป็นแบบอย่างในการดูแลพื้นที่ป่าอื่นๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง