"ธวัชชัย" กังขา 5 ข้อ ขอแก้เกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล

สังคม
16 พ.ค. 56
11:59
83
Logo Thai PBS
"ธวัชชัย" กังขา 5 ข้อ ขอแก้เกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล

หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างอนุกรรมการพิจารณาเกณฑ์ประมูล เป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ประกอบการโทรทัศน์ ที่จะขอเปิดทีวีดิจิตอล

  นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า หลังจากบอร์ดกระจายเสียงฯ เห็นชอง (ร่าง)ประกาศ กสทช.  เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. ....(หลักเกณฑ์การประมูลโทรทัศดิจิตอล) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 เป็นร่างหลักเกณฑ์ที่นำเสนอโดยผ่านความเห็นจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (อนุฯ DSO) โดยที่คณะอนุกรรมการชุดนี้มีผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องหลักหลายช่องร่วมอยู่ในคณะ และผู้ประกอบการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ร่วมในการประมูลโทรทัศน์ดิจิตอลในครั้งนี้ด้วย จึงทำให้หลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ไม่ชอบธรรมทั้งในขั้นตอนการดำเนินการ และอาจมีข้อกำหนดที่ขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม

 
ทาง คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ จึงร่วมกันพิจารณา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 โดยตั้งข้อสังเกตเพื่อเสนอให้บอร์ดวันที่ 20 นี้ ปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 
 
1.เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานในการวางหลักประกันการประมูล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลโดยไม่ติดขัดในการต้องเร่งหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ เสนอให้เพิ่มเติมการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 (Bank Guarantee) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกัน ซึ่งก็ใช้กันได้ในกรณีของการประมูล  3G ที่ผ่านมา
 
 
2. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือเลือกปฏิบัติในภายหลัง หลายประเทศเลือกใช้วิธีการกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX operator) แยกออกจากผู้ให้บริการช่อง (Channel provider) (ห้าม MUX เป็นเจ้าของช่อง) เว้นแต่ในกรณีกิจการสาธารณะ (Public Service Broadcasting) ในกรณีประเทศไทยเนื่องจากผู้ให้บริการโทรทัศน์รายเดิมเป็นเจ้าของโครงข่ายและเป็นผู้ให้บริการช่องรายการ และมีแนวโน้มที่จะขอให้บริการในทั้งสองลักษณะต่อไปใน โทรทัศน์ระบบดิจิตอล จึงมีข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวได้ยาก
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) เป็นรายเดียวกันสามารถส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เมื่อเปรียบเทียบกับรายอื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลัง คณะอนุกรรมการฯ จึงขอพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยขอเป็นผู้ยกร่างหลักเกณฑ์การเลือกใช้โครงข่ายโทรทัศน์ของผู้ให้บริการช่องรายการ เพื่อเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยจะเร่งเสนอต่อ กสทช. โดยเร็วก่อนมีการประมูล
 
 
3.การประมูลของที่มีลักษณะทดแทนกันได้ โดยกำหนดให้มีการเรียงลำดับการประมูลแยกตามหมวดหมู่ประเภทช่องรายการนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับการประมูล โดยคณะอนุกรรมการฯเห็นว่า ลำดับที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประมูลนั้น ควรเรียงโดยอาศัยข้อมูลความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียงลำดับตามมูลค่า หรือราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประมูล ในที่นี้เมื่อไม่มีข้อมูลการประมาณการที่ชัดเจน จึงเสนอให้นำราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ เนื่องจากราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่กำหนดขึ้นจากการประเมินมูลค่าและความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรเห็นควรให้เรียงลำดับการประมูลจากราคาที่สูงสุดไปหาต่ำสุดคือเริ่มจาก Variety HD, Variety SD, ข่าวสารสาระ แล้วจบลงที่หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว
 
4.โดยทั่วไปการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันจะไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าควรจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่จะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด  ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นคณะอนุกรรมการฯเสนอให้ เพิ่มเติมเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มภายในห้านาทีนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า โดยการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย และป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล
 
5.เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถมีการประมาณการรายรับรายจ่ายและบริหารเงินสดได้ง่ายขึ้น และมีเงินทุนเพียงพอในการให้บริการตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด คณะอนุกรรมการฯเสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ โดยให้ดำเนินการได้ภายหลังจากผ่านพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการยืดระยะเวลาการชำระเงินให้สอดคล้องกับรายรับของทีวีดิจิตอลที่ต้องใช้เวลานาน
 
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการปฏิบัติคณะอนุกรรมการฯจะเสนอความเห็นต่อ กสท.ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 หาก กสท.มีมติรับข้อเสนอในส่วนที่ขอปรับปรุงแก้ไข จะต้องนำร่างประกาศนี้เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. (บอร์ดใหญ่) เพื่อขอความเห็นและขอความเห็นชอบให้จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนต่อไป
 
หลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังมีโอกาสแก้ไขในรายละเอียดได้อีกหากผู้มีส่วนได้เสียมีความเห็นที่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจะส่งผลกระทบต่อความไม่เป็นธรรมในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการแข่งขัน ดังนั้นจึงขอให้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดของร่างหลักเกณฑ์นี้อย่างรอบคอบเมื่อบอร์ดมีมติให้เผยแพร่ได้ และขอให้เตรียมการเสนอความเห็นในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย
 
"ตอนนี้ทั้งราคาการประมูล และสูตรช่องประเภทต่างๆ ที่เป็น  7:7:7:3 นั้นถือว่ายังไม่ได้ข้อสรุป และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากการรับฟังประชาพิจารณ์กิดการเปลี่ยนแปลง โดยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ เคยทักท้วงเข้าที่ประชุมบอร์ดกระจายเสียงฯ แล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งหากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันในการประมูลทีวีดิจติอล จะเกิดพฤติกรรมแบบสาวได้สาวเอา และบริษัทใหญ่จะได้เปรียบในการแข่งขันอุตสาหกรรมนี้ แทนที่จะมีการปรับเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรมตามเจตนารมย์"  นายธวัชชัยกล่าว
 
สำหรับความสนใจของผู้ที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลตอนนี้ มีการประเมินแบบไม่เป็นทางการพบว่า กลุ่มช่องรายการทั่วไปHD กำหนดมี 7 ช่อง ตอนนี้มีผู้สนใจ 7-9 ราย, ช่องรายการทั่วไปSD มี 7ช่อง มีคนสนใจ 20 กว่าราย,ช่องรายการเด็กและเยาวชน กำหนดมี 3ช่อง คนสนใจ 10 กว่าราย และช่องรายการข่าว 7 ช่อง มีคนสนใจ 7-9 ช่อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง