มติบอร์ด สปสช.ถอนวาระร่วมจ่าย หลังภาคประชาชนร่วมพลังคัดค้าน

สังคม
17 พ.ค. 56
06:30
88
Logo Thai PBS
มติบอร์ด สปสช.ถอนวาระร่วมจ่าย หลังภาคประชาชนร่วมพลังคัดค้าน

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556

 โดยที่ประชุมมีวาระการพิจารณาเรื่อง ข้อเสนอแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วย ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ ก่อนการประชุมบอร์ดสปสช. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้ยื่นหนังสือถึงนพ.ประดิษฐ เรียกร้องให้ถอนวาระการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป
 
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การร่วมจ่ายค่าบริการ (Copayment) เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อการเลือกปฏิบัติ หลายมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำและระบบบริการสุขภาพโดยรวม เรียกร้องให้ ประธานยุติการนำเรื่อง “แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐกับผู้ป่วย” ออกจากวาระการประชุมในวันนี้ระงับการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในมาตรา 18 ร่วมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 61
 
นางสาวกชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าจากการศึกษาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำนวน 589 ราย พบว่า เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 355 บาทต่อครั้งในการไปพบแพทย์ และจำนวน 724 บาทหากต้องนอนโรงพยาบาล ขณะที่รายได้เฉลี่ยของผู้ป่วยกลุ่มนี้เพียง 210 บาทต่อวัน ดังนั้นการไปใช้บริการต่อครั้งพบว่า ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้ารับบริการมากเกินกว่า จะมารพ.เมื่อไม่ป่วย
 
โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวต่อ "การศึกษารูปแบบการเพิ่มงบประมาณของหลายหน่วยงาน ไม่สนับสนุนให้นำระบบการร่วมจ่าย ณ จุดบริการมาใช้ เพราะจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หลายมาตรฐานในการให้บริการ หรือต้องมีการสร้างระบบเพื่อวัดความยากจนกัน หรือหากพิจารณาข้อเสนอของภาคประชาชนให้มีการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้นเพื่อเพิ่มรายได้"
 
รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวก่อนการเข้าประชุมว่า "ผมไม่ทราบ แต่เป็นวาระที่ฝ่ายเลขาฯนำเข้าวาระ ส่วนตัวผมยังไม่มีเรื่องการร่วมจ่ายในความคิด แต่อนาคตจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มั่นคงต่อไป รับปากว่าวันนี้จะถอนออกไปก่อน"
 
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ข้อกังวลเรื่องการใช้บริการเกินความจำเป็น ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น และการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอต่อครม. ในการประกอบการของบประมาณประจำปี 2557 ของสปสช. 27 มีนาคม 2556 โดยเสนอแนะว่าควรมีการศึกษาและดำเนินการใช้แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วยอย่าง โดยเฉพาะกรณีการให้บริการเฉพาะโรค ซึ่งแยกจากการให้บริการสุขภาพที่เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานตามเศรษฐานะของผู้ใช้บริการเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการดูแลสุขภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ไม่เป็นการกีดกันการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
 
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติวันนี้ว่า ระเบียบวาระนี้เพิ่งส่งให้ทางอีเมลเมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมา ในวาระที่ส่งให้ก่อนหน้านี้ไม่มีวาระนี้ ต้องถามว่าทำไมทำแบบนี้ มีใครสั่งมาหรือไม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมบอร์ดสปสช.มีมติให้ถอนวาระนี้ออกไปก่อน โดยเป็นข้อเสนอของนพ.ประดิษฐ และการประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งต่อไป ให้สปสช.นำเสนอวาระนี้เข้ามาใหม่ แต่เป็นวาระเพื่อทราบว่า สภาพัฒน์ฯมีความเห็นและข้อเสนอแนะเท่านั้น ไม่ใช่วาระเพื่อการพิจารณาเรื่องร่วมจ่ายแต่อย่างใด
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง