เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบนยืนยันคัดค้านนโยบาย P4P

สังคม
20 พ.ค. 56
10:11
293
Logo Thai PBS
 เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบนยืนยันคัดค้านนโยบาย P4P

สืบเนื่องจากการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมเพื่อชี้แจงนโยบาย p4p ที่โรงแรมเซนทารา คอนเวนชันเซนเตอร์ ขอนแก่น ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 นั้น เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนใน 11 จังหวัดภาคอีสาน ตอนบน (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร) มีมติไม่เข้ารับฟังการชี้แจง และได้แต่งชุดดำแสดงอารยะขัดขืน คัดค้านนโยบาย p4p

 นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย แพทย์ดีเด่น  รพ.ศิริราช กล่าวว่า “ p4p ของจริงตามต้นแบบต่างประเทศ ทำให้วัฒนธรรมการทำงานในโรงพยาบาลเปลี่ยนไปจากการทำงานเป็นทีม การดูแลผู้ป่วยด้วยจรรยาบรรรและจิตใจอยากช่วยเหลือ มาเป็นการทำงานเก็บแต้มเพื่อแลกเงิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับโรงพยาบาลชุมชน งานหลายอย่างเป็นงานเชิงคุณภาพเช่นการเยี่ยมบ้าน การผ่าตัด ก็ยิ่งเป็นปัญหาในการลดทอนคุณค่ามาเป็นแต้ม  แต่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็น ของปลอม จริงๆ ต้องเรียกว่า P4S (Pay For Service) หรือการจ่ายตามกิจกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบของภาคเอกชน ที่หวังผลกำไรเรียกเก็บจากผู้ป่วย ซึ่งรายละเอียดเช่นนี้ถือเป็นปีศาจร้าย(Devil) แต่เอาหลักการที่เหมือนเป็นนางฟ้า(Angell) มาหลอกประชาชน ดังนั้น เมื่อกระทรวงยืนยันจะดัน p4p และมาชี้แจงในวันนี้ โรงพยาบาลชุมชนจึงต้องมาแสดงอารยะขัดขืนให้รัฐมนตรีรู้ว่า เราไม่เอา P4P และ จะชี้แจงอย่างไรก็เป็นการฉายหนังม้วนเก่า เราไม่ขอทำ P4P”

 
นพ.วัฒนา พารีศรี  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ  จ.หนองคาย กล่าวว่า “นอกจากหลักการของ P4P จะมีปัญหาในการนำมาใช้ในระบบสุขภาพแล้ว ในรายละเอียดของประกาศฉบับที่ 8,9 ของกระทรวงสาธารณสุขก็มีปัญหามาก เช่นกลุ่มพ่อบ้านหรือฝ่ายบริหารทั้งหมด ถูกตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจนหมด กลุ่มพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ไกลส่วนปลายสุดของสถานบริการที่ควรได้แรงจูงจสูงสุดเพราะไปอยู่ไกลสุดนั้น กลับถูกลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจาก 3,000 บาท ถูกลดมาเหลือ  1,800 บาท  และเมื่อนำค่าตอบแทนมาเทียบเป็นรายวิชาชีพแล้วพบว่า คนที่ทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดจะได้ค่าตอบแทนมากกว่าคนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนและ รพ.สต. ประมาณ 4-8 เท่า ซึ่งผิดหลักการอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุขเคยมีจุดยืนเพื่อจูงใจให้คนไปทำงานในชนบท แต่ปัจจุบันกลับทำตรงกันข้าม และทำให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกถูกลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีต้องลาออกไปหลายท่านแล้ว ประชาชนตามพื้นที่ห่างไกลต้องเดือดร้อนอย่างมาก”
 
นพ.สมชายโชติ ปิยวัฒน์เวลา  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงยืน  จ.มหาสารคาม กล่าวว่า  “ตนรู้สึกผิดหวังที่รัฐมนตรีประดิษฐ สินธวณรงค์ ปอดแหกอีกครั้ง เปลี่ยนใจไม่มาชี้แจงตามกำหนดการในวันนี้ เพราะหากมาจะได้เห็นว่ามีการคัดค้านอย่างกว้างขวางและจริงจังและเป็นเช่นนี้ทั่วประเทศ นโยบายที่ผิดพลาด มีผลเสียมากกว่าผลดี ผ่านมาแล้ว 2 เดือนก็ยังไม่มีใครร่วม  หากกระทรวงไม่รู้จักถอย จะมีแต่ความแตกแยกและชงักงัน ทางโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศจะคัดค้านจนถึงที่สุด ไม่ทำ P4P เสียอย่าง กระทรวงจะทำอะไรได้ แต่เรายังยืนยันที่จะดูแลผู้ป่วยทำหน้าที่ในวิชาชีพอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังพยายามให้รพ.จังหวัดมาชักจูงให้โรงพยาบาลชุมชนทำแบบฮั้วกัน ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขอ้างว่าออกระเบียบนี้มาเพื่อกระตุ้นการทำงาน วันนี้จึงจะได้แจ้งให้ ส.ต.ง. ให้ไปตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนแบบ P4P ของรพ.กาฬสินธุ์ ว่าเบิกจ่ายอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการอ้างอิงต่อไป เพราะระเบียบนี้ใช้เงินแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชน”
 
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หลังจากที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ออกมาต่อต้านการปฏิบัติงานของนายประดิษฐ สินธวณรงค์ ทั้งการปรับ ตัด ลดค่าตอบแทนของบุคลากรในชนบท ให้ลดน้อยลงกว่าเขตเมือง ในทุกวิชาชีพ ไม่สอดคล้องกับทิศทางที่จะทำให้ประชาชนในชนเข้าถึงบริการได้ ส่อไปในทิศทางที่เอื้อให้กับภาคเอกชน ปรับราคาค่าบริการทางการแพทย์ ทำลายภาพลักษณ์องค์การเภสัชกรรม ทำให้อนาคตคนไทยจะเข้าถึงยาได้น้อยลง เอื้อต่อธุรกิจยาข้ามชาติ รวมถึงพยายามเปลี่ยนเส้นทางงบประมาณสนับสนุนการทำงานภาครัฐขององค์การเภสัชกรรมไปให้กับนักกสารเมือง รวบอำนาจการกระจายงบประมาณหลักประกันสุขภาพกว่า 2 ล้านบาท ส่อไปในทางทุจริตและเอื้อให้กับภาคเอกชน ตลอดจนไม่ชอบมาพากลในการซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้อสม. ส่อไปในทางทุจริต 
จึงเกิดการขยายตัวรวมกันเป็น เครือข่ายผู้พิทักษ์สุขภาพ เพื่อชาวชนบท ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพในทุกสาขา สหภาพองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายคนรักหลักประกัน ตลอดจนเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ อสม. และประชาชนที่รักความเป็นธรรม โดยจะเชิญชวน เครือข่าย จากภาคอีสานตอนล่างในวันที่ 27 ภาคเหนือทั้งหมดในวันที่ 31 และพร้อมกันกับภาคกลางและตะวันออก จะรวมตัวกันไปอุทธรณ์ร้องขอความเป็นธรรม และไล่รัฐมนตรีประดิษฐที่บ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิถุนายน หากนายกรัฐมนตรียังไม่ปรับนายประดิษฐออกจากตำแหน่ง”
 
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง