ไทยเตรียม 5 มาตรการเข้าครม.คัดค้านกัมพูชาเสนอ "พระวิหาร" เป็นมรดกโลก

การเมือง
23 พ.ค. 56
04:41
159
Logo Thai PBS
ไทยเตรียม 5 มาตรการเข้าครม.คัดค้านกัมพูชาเสนอ "พระวิหาร" เป็นมรดกโลก

ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอ 5 มาตรการคัดค้านการที่กัมพูชาจะเสนอกรณีปราสาทพระวิหารเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมมรดกโลก

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเตรียมการท่าทีของประเทศไทยในการกำหนดนโยบาย ต่อกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีประเทศกัมพูชาทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ระหว่างวันที่ 16-26 มิ.ย.นี้ 2556 นี้

 
สำหรับท่าทีของฝ่ายไทยมีการเตรียมพร้อมแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เบื้องต้นได้เสนอ 5 มาตรการ คือ
 
1.กรณีคณะกรรมการมรดกโลกยืนยันที่จะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตย เหนือดินแดนของไทย ให้ดำเนินการคัดค้านหรือไม่ร่วมประชุม
 
2.กรณีมติคณะกรรมการมรดกโลกตามข้อที่ 1 มีผลกระทบกระเทือนต่ออธิปไตยของไทย ราชอาณาจักรไทยจะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยจะยึดถืออธิปไตยของชาติเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และจะดำเนินการตามขบวนการภายในประเทศต่อไป
 
3.ในกรณีที่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณตัวปราสาท ราชอาณาจักรไทย ควรให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ซึ่งคำสั่งศาลฯ ระบุว่า "ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลฯ ทวีความรุนแรงหรือแก้ไขได้ยากขึ้น" ทั้งสองประเทศจึงไม่ควรทำการใด ๆ บริเวณปราสาทพระวิหารจนกว่าศาลฯ จะมีคำตัดสินในคดีตีความปราสาทพระวิหารปี พ.ศ. 2505
 
รวมทั้งควรรอผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC และควรเสนอให้ปราสาทพระวิหารออกจากกลไกการติดตามตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
 
4.กรณีที่วาระเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนมรดกโลก มีการให้การสนับสนุนกัมพูชา เพื่อกิจกรรมใด ๆ ของกัมพูชา ที่เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของไทย ไทยควรคัดค้านเพื่อไม่ให้มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และขอให้ศูนย์มรดกโลกและ/หรือคณะกรรมการมรดกโลก ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนมรดกโลกของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะแหล่งมรดกโลก เช่น การซ่อมแซมตลาดบริเวณเชิงบันไดนาค หรือปรับปรุงกิจกรรมอื่น ๆ ของกัมพูชา
 
5.กรณีปราสาทพระวิหาร อาจปรากฏในวาระการประชุม เกี่ยวกับสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมปราสาทพระวิหาร โดยกัมพูชาอาจเสนอเป็นวาระเพิ่มเติมเข้ามา ดังนั้น ราชอาณาจักรไทยควรเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างข้อตัดสินใจ และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ ด้วย เช่น สรุปรายงานการอนุรักษ์ปราสาทโดยศูนย์มรดกโลก เพื่อโต้แย้งหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก หากมีการร่างพิจารณาข้อตัดสินใจ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง