ครม.เห็นชอบจัดสรรงบฯ 1,650 ล้านบาทแก้ปัญหาการจราจรพื้นที่โดยรอบ รพ.ศิริราช

การเมือง
28 พ.ค. 56
11:37
86
Logo Thai PBS
ครม.เห็นชอบจัดสรรงบฯ 1,650 ล้านบาทแก้ปัญหาการจราจรพื้นที่โดยรอบ รพ.ศิริราช

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบจัดสรรงบประมาณ 1,650 ล้านบาท ให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการจราจร บริเวณพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลศิริราช

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจ้างก่อสร้างระบบส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา พร้อมอาคารประกอบส่วนที่ 1 โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวงเงินงบประมาณ 1,982,000,000 บาทตามแผนขยาย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ซึ่งโครงการดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 และกรมชลประทานได้ดำเนินการประกวดราคางานจ้างก่อสร้างแล้วโดยวิธีการประกวด ราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ผลการประกวดราคาเป็นเงิน 1,982,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำที่สุดที่มีผู้เสนอ และถูกต้องตามเงื่อนไขการประกวดราคา โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 398,153,200 บาท และที่เหลืออีก 1,583,846,800 บาท  ให้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณก่อนลงนาม ในสัญญาจ้าง

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณ 1,650 ล้านบาท ให้กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคม ในบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลศิริราช ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กรุงเทพมหานครก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระยะเวลา 3 ปี (2556 - 2558) สำหรับดำเนินโครงการ รวม 2 โครงการ คือ โครงการต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์พร้อมทางขึ้นลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช วงเงิน 1,300 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาส และสะพานข้ามแยกจรัญสนิทวงศ์ วงเงิน 350 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ….. เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ กำหนดให้สถาบันวิทยาลัยชุมชนเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกำหนดให้วิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการในสถาบันมีหน้าที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา และฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพ โดยให้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน

นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้วิทยาลัยปฏิเสธการรับบุคคลเข้าศึกษา หรือยุติการศึกษา ด้วยเหตุผลว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาอีก ด้วย  ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่าการจัดการศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยชุมชนเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา โดยให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความเหมาะสม และความประสงค์ของท้องถิ่นได้ ดังนั้น จึงควรพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีมาตรฐาน และสามารถเชื่อมโยงกับการศึกษาในระบบ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนดังกล่าว สามารถศึกษาต่อในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า ความเห็นของนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับบทบัญญัติในร่าง มาตรา 8 และ 18 ของ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการว่าจ้างองค์การระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยองค์การที่จะทำหน้าที่ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ คือ องค์การยูเนสโก้ หรือองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และองค์การ OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และประสิทธิภาพการศึกษาของไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 10,400,000 บาท มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1. เพื่อศึกษา ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล 2. เพื่อจัดทำดัชนี ตัวชี้วัดด้านการศึกษา เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และ 3. เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย พร้อมยุทธศาสตร์ มาตรการ และกลไกขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11


ข่าวที่เกี่ยวข้อง