เปิดผลกระทบ"กนง."ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เศรษฐกิจ
29 พ.ค. 56
14:20
1,221
Logo Thai PBS
เปิดผลกระทบ"กนง."ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือ ร้อยละ 2.5 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเอกฉันท์ เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสเเรก ชะลอกว่าที่คาดการณ์ เเละ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ การปรับลงครั้งนี้ จะส่งผลต่ออะไรได้บ้าง

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือ ร้อยละ 2.5 ถือเป็นครั้งแรกของปีนี้  (56) คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเอกฉันท์เพราะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสเเรกชะลอกว่าที่คาดการณ์ เเละ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ เมื่อปรับลงเเบบนี้ จะส่งผลต่ออะไรได้บ้าง

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลถึงนักลงทุน และประชาชนทั่วไปเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถือเป็นดอกเบี้ยอ้างอิง สำหรับดอกเบี้ยอื่นๆเปลี่ยนแปลง อัตราดอกเบี้ยต่างๆ จะมีการปรับขึ้นหรือลงเป็นไปในทิศทางเดียวกันยกตัวอย่าง เช่น ผู้ฝากเงินก็จะได้รายรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในขณะที่ผู้กู้เงินต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น

ขณะที่การลดดอกเบี้ยจะส่งผลราคาตราสารหนี้ด้วย ซึ่งปกติมักปรับขึ้นลง ตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย โดยหากดอกเบี้ยลงราคาตราสารหนี้ต่างๆ จะปรับเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนจะได้กำไร ในฝั่งสินเชื่อ หากดอกเบี้ยสูง ประชาชนและผู้ประกอบการ ก็จะกู้ลดลง เพราะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเช่น การกู้เงินซื้อบ้าน หรือกู้เงินลงทุน

ขณะที่ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนถ้าดอกเบี้ยในประเทศใดสูง นักลงทุนจะให้ความสนใจมาลงทุน และอาจจะเกิดการเก็งกำไรค่าเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อค่าเงินที่จะแข็งค่า หรือ อ่อนค่า

หรือกรณีดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนอาจเลือกที่จะย้ายเงินจากเงินฝากธนาคารหรือตราสารหนี้ซึ่งให้ดอกเบี้ยน้อย ไปลงทุนในตราสารทุน และตลาดหุ้น ที่อาจให้ผลตอบแทนดีกว่าเเละถ้าพูดถึง"อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงโดยอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ เงินฝาก หรือ พันธบัตรมีแนวโน้มจะขยับตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนี้

ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุนทางการเงินของธนาคารที่ต้องการเงินที่เรียกว่า ผู้กู้ และเป็นตัวกำหนดรายได้ของธนาคารที่เงินเหลือคือ คนปล่อยกู้ และย่อมส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย เงินฝากและเงินกู้ในระบบต่อเนื่องกันไป

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ย จะประชุม หารือกันปีละ 8 ครั้ง ซึ่งจะหารือกันเพื่ออัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อควบคุมเสถียรภาพด้านราคาไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพราคาสินค้า(ดูแลเงินเฟ้อหรือเงินฝืด)เสถียรภาพราคาตลาดเงิน (ดูแลดอกเบี้ย) เสถียรภาพราคาตลาดอัตราแลกเปลี่ยน(ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน) โดยมีเป้าหมาย คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

แม้ว่า ที่ประชุม กนง. จะตัดสินใจปรับลดนโยบายดอกเบี้ยลงมา แต่ก็อาจจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ โดยเฉพาะภาคการลงทุนและการส่งออก ที่เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจ ที่อาจจะขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ หากธนาคารพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชน ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายเเห่งออกมาระบุว่า ต้องหารือทิศทางดอกเบี้ยกันก่อน 1-2 วัน ว่าจะปรับลดตามหรือไม่เเต่ก็มีบางครั้งที่เเม้ว่าดอกเบี้ยนโยบาย ลดลง เเต่ธนาคารพาณิชย์กลับไม่ขยับตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง