“วิฑูรย์”สั่งเอ็กซเรย์เหมืองหินทั่วประเทศ พบอีก 4 เหมืองเสี่ยงอันตราย

ภูมิภาค
4 มิ.ย. 56
12:07
113
Logo Thai PBS
“วิฑูรย์”สั่งเอ็กซเรย์เหมืองหินทั่วประเทศ พบอีก 4 เหมืองเสี่ยงอันตราย

อุตฯ เข้มตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้กฎหมาย ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบรายงานตรง เผยมีเหมืองหิน 4 แห่งเสี่ยงฯ เร่งพิจารณาปิดก่อน

  นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (วิดีโอคอนเฟอเร้นท์) กับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมส่วนกลาง และอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมทุกระดับปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้อย่างเคร่งครัดเข้มงวดในทุกเรื่องโดยเฉพาะบทบาทในด้านการกำกับดูแล ตาม พรบ.โรงงานฯ ปี 2535 พรบ.วัตถุอันตรายฯ ปี2535 พรบ.แร่ฯ ปี 2510 และ พรบ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปี 2511และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

 
“การออกคำสั่งแก้ไขปรับปรุงใดๆควรจะต้องมีการลงพื้นที่และติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยผู้บังคับบัญชาต้องกวดขันตรวจสอบดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วยและต้องเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นการทำงานอย่างเข้มแข็งถูกต้องจะสามารถป้องกันความเสียหายและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ 
 
กรณีโรงโม่หินถล่มที่จังหวัดเพชรบุรีกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแก้ไขปรับปรุงมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้โดยเหมืองดังกล่าวมีปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องเสียงดังและฝุ่นละออง ดังนั้นการติดตามการแก้ไขปรับปรุงของผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนซ้ำชากก็ถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น  ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ออกตรวจเชิงป้องกันเหมืองทุกแห่งทั้งหมดทั่วประเทศ และให้แก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงสูงให้พิจารณาสั่งหยุดการดำเนินการไว้ก่อนซึ่งในช่วงหน้าฝนจะต้องระมัดระวังการดำเนินการให้มีความปลอดภัยเป็นพิเศษโดยให้วิศวกรความปลอดภัยและวิศวกรเหมืองแร่ซึ่งเป็นวิศวกรควบคุมของแต่ละเหมือง เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด 
 
โดยมี รายงานเบื้องต้นพบว่ามีเหมืองที่มีความเสี่ยงลักษณะนี้อยู่อีก 4 แห่ง ใน หมู่เหมืองหินหน้าพระลานจ.สระบุรี หมู่เหมืองหินเขาเชิงเทียน จ.ชลบุรี หมู่เหมืองหินเขายะลา อ.เมืองจ.ยะลา และ หมู่เหมืองหิน อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
 
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ กล่าวว่า กรณีที่มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฏหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำกับดูแลทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น การประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตการผลิตและนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมการประกอบกิจการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตรวมถึงการประกอบกิจการเกี่ยวกับแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต   จึงจำเป็นแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนขึ้นโดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุญาตอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อแก้ไขปัญหาร้องเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อมโรงงานตั้งแต่เริ่มตั้งโรงงานซึ่งถือเป็นการดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศและป้องกันผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อชุมชมรอบสถานประกอบการ เพราะโรงงานได้มีระบบดูแลและมาตรการต่างๆ ตั้งแต่สร้างโรงงาน 
 
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ได้ออกคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 106/2556 แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการบังคับใช้กฏหมาย เมื่อวันที่15 พฤษภาคม 2556 โดยมีนายณัฐพล ณัฏสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการ รวมจำนวน 10 คนซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการกำกับดูแลอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบกิจการพื้นที่ที่มีเหตุเชื่อว่าไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายและรายงานผลการดำเนินการให้ผมทราบโดยตรง  
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง