สื่อตุรกีถูกตำหนิอย่างหนัก เหตุไม่เสนอข่าวประท้วงรัฐบาล

ต่างประเทศ
6 มิ.ย. 56
14:59
89
Logo Thai PBS
สื่อตุรกีถูกตำหนิอย่างหนัก เหตุไม่เสนอข่าวประท้วงรัฐบาล

สื่อมวลชนของตุรกีกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังไม่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวการประท้วงที่ยืดเยื้อมาเกือบสัปดาห์ ขณะที่รัฐบาลตุรกีจับผู้ที่โพสต์ข้อความในเว็บไซต์สังคมออนไลน์ ในข้อหาให้ข้อมูลผิดๆ ถือเป็นการชักนำเยาวชนไปในทางที่ผิด

การประท้วงในประเทศตุรกีเข้าสู่วันที่ 7 แล้ว ในกรุงอังการ่า ผู้ประท้วงชุมนุมใกล้กับสถานทูตสหรัฐฯและเกิดการปะทะกับตำรวจที่ฉีดแก็สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าใกล้สถานทูตสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วง 2 คน ถูกจับกว่า 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

การประท้วงในตุรกีครั้งนี้ ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนของตุรกีน้อยมาก อย่าง สถานีโทรทัศน์ของเอกชนแห่งนี้ที่นำเสนอข่าวการประท้วงเพียงสั้นๆ ในช่วงข่าวภาคปกติ แม้แต่เวลาที่เกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง ทางสถานีไม่เคยตัดเข้ารายการพิเศษ แต่ยังคงนำเสนอรายการปกติไม่ว่าจะเป็นรายการทำอาหารหรือรายการสารคดี

ประชาชนต้องติดตามสถานการณ์การประท้วงผ่านทางเว็บไซต์อย่าง "ทวิตเตอร์"และ"เฟซบุ๊ค" ชาวตุรกีบางคนกล่าวว่ารู้สึก"เศร้า"ที่สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ไม่สนใจข่าวการประท้วงเท่าที่ควร

นอกจากนี้ตำรวจยังได้จับผู้ที่โพสต์ข้อความในเว็บไซต์"ทวิตเตอร์" 25 คน และกำลังตามตัวอีก 13 คนในข้อหาให้ข้อมูลผิด ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการวางกำลังและการปิดถนนของตำรวจ

กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ข้อมูลผิด ๆ ที่ถูกส่งต่อในสังคมออนไลน์ เป็นตัว"ชักนำเยาวชนไปในทางที่ผิด" และยังทำให้การประท้วงกลายเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยในนครอิสตันบูล มองว่า การที่รัฐบาลพยายามปิดกั้นข่าวสาร การรับรู้ของประชาชน ขณะนี้รัฐบาลรู้แล้วว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลไม่อาจปิดกั้นสังคมออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่เหตุการณ์จริงแบบนาทีต่อนาที

และเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงไปชุมนุมบริเวณหน้าสถานีโทรทัศน์เอกชน 2 แห่ง โดยเปรียบเทียบว่าทำตัวเหมือนลิง 3 ตัวที่ปิดหู ปิดตา ปิดปาก และผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งโจมตีรถจานดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งและทำลายอุปกรณ์ที่อยู่ภายในรถ

นายเมท คูบัคคู ผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์เอกชน บอกว่า เหตุผลที่ทางสถานีไม่ให้ความสำคัญกับข่าวการประท้วง เพราะไม่ต้องการให้สถานการณ์บานปลาย หากสื่อมวลชนเผยแพร่ภาพความรุนแรง ภาพเหตุการณ์จะแพร่กระจายไปในวงกว้าง ทางสถานีจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง และยืนยันว่าการที่ไม่ให้ความสำคัญกับข่าวการประท้วง ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันของรัฐบาล

ส่วนนายเรเซป เทยิป เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรีตุรกี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเยือนแอฟริกาเหนือ โดยเยือนประเทศตูนิเซีย เป็นประเทศสุดท้ายและมีกำหนดเดินทางกลับประเทศในวันนี้ 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง