แนวทางการใช้พระราชกำหนดเงินกู้ กว่า 300,000 ล้านบาท

19 มิ.ย. 56
14:09
134
Logo Thai PBS
แนวทางการใช้พระราชกำหนดเงินกู้ กว่า 300,000 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.2556) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการกู้เงินตามพระราชกำหนดเงินกู้เพื่อระบบบริหารจัดการน้ำวงเงินกว่า 300,000 ล้านบาท แต่การวางโครงการเพื่อใช้เงินกู้ไม่ได้มีเพียงโครงการออกแบบก่อสร้าง 9 สัญญา ที่ กบอ.จะทำสัญญากับบริษัทเอกชนในเร็วๆ นี้ เท่านั้น แต่มีการใช้เงินไปกับโครงการอื่นอีกด้วย

รัฐบาลใช้พระราชกำหนดเงินกู้ 350,000 ล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ มีกรอบการใช้เงิน 3 ส่วน คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เงิน 300,000 ล้านบาท  แก้ปัญหาน้ำท่วมใน 17 ลุ่มแม่น้ำ ใช้เงิน 40,000 ล้านบาท และสุดท้ายลงทุนตามยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ 10,000 ล้านบาท โดย 2 แผนแรกคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการกู้เงินไปแล้ว เหลือแต่วงเงินสุดท้ายที่จะอนุมัติในเร็วๆนี้ แต่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ยังไม่ได้ให้รายละเอียดกับประชาชนในขณะนี้ว่า จะใช้เงินก้อนนี้ไปทำอะไร

ดังนั้นขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเงินกู้ไปแล้ว 340,000 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ได้อนุมัติพร้อมกันในครั้งเดียว โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินกู้ก้อนแรกไปก่อนที่กว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 4 โครงการ คือ โครงการปลูกป่า จัดทำผังการใช้ที่ดิน และทำคันปิดล้อมเขตเศรษฐกิจและชุมชน จัดทำพื้นที่แก้มลิง  และขุดลอกรวมทั้งสร้างคันริมแม่น้ำ

และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2556 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเงินกู้ก้อนใหญ่ที่กบอ.เสนอมาอีกที่วงเงินกว่า 310,000 ล้านบาท แบ่งได้อีก เป็น 2 วงเงิน คือ ก้อนแรกกว่า 23,000 ล้านบาท กบอ. ขอนำไปใช้ ปลูกป่าและทำฝาย 10,000 ล้านบาท  จ้างบริษัทที่ปรึกษามาตรวจโครงการก่อสร้างเพื่อจัดการน้ำของกบอ.อีกกว่า 8,700 ล้านบาท  และใช้เงินอีกกว่า 4,600 ล้านบาท ในโครงการเก่าที่ยังไม่ได้ทำหรือทำไม่แล้วเสร็จ เพื่อขุดลอกบึงสีไฟ บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา และหนองหาน

ก้อนที่ 2 เป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุด วงเงิน 291,000 ล้านบาท เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำของทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอีก 17 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ หรือที่รู้จักกันในนามทีโออาร์บริหารจัดการน้ำ 9 สัญญา

และในวงเงิน 291,000 ล้านบาทนี้ จะมีการใช้เงินกู้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ก้อนแรกเป็นวงเงินที่กบอ.ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ก่อสร้างโครงการต่างๆ 9 สัญญา แต่เมื่อต่อรองราคากับบริษัทแล้วลดราคาลงมาได้เหลือเงินกว่า 6,200 ล้านบาท กบอ.ขอใช้เงินกู้ก้อนนี้ ไปสนับสนุนโครงการอื่นๆของ กบอ.  เช่น การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อการจัดการน้ำ  ติดตามโครงการออกแบบก่อสร้างของกบอ. และควบคุมพัฒนาการเก็บน้ำในลำน้ำสาขาโขง-ชี-มูล แต่การแบ่งใช้เงินกู้รวมเกือบ 70,000 ล้านบาทไปในหลายโครงการของกบอ.นอกเหนือจากการว่าจ้างบริษัทก่อสร้างโครงการจัดการน้ำ 9 สัญญา ทำให้ภาคประชาชนและนักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการรื้อโครงการเก่าที่ยังทำไม่สำเร็จ และขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ขึ้นมาทำใหม่อีกครั้ง ขณะในที่แม้คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติเงินกู้ไปแล้วแต่จนถึงขณะนี้กบอ.ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดโครงการก่อสร้างของทั้ง 9 สัญญาให้ประชาชนรับทราบได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง