หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สังคม
25 มิ.ย. 56
14:59
452
Logo Thai PBS
หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ผลสำรวจผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งประเทศ พบว่าสูงขึ้นเกือบ 2 ล้านคนในปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถาม ถึงนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ว่า มาถูกทางเเละเเก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นวัดผลสำเร็จด้านปริมาณ อาจไม่ใช่เเนวทางเเก้ไขปัญหาที่เเท้จริง

เเม้ตัวเลขผู้ที่เข้าสู่ระบบบำบัดยาเสพติดปีที่เเล้ว จะมีอัตราสูงขึ้นถึงเกือบ 600,000 คน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 300,000 คน เเต่ข้อมูลจากสถาบันธัญญารักษ์กลับพบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในปัจจุบัน มีตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านคน หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่า นโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาล ที่มุ่งผลสำเร็จด้านปริมาณเป็นหลัก ทั้งการตั้งด่านตรวจค้น ตรวจปัสสาวะ เเละดำเนินการจับกุม ประสบความสำเร็จเเละเเก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

เเผนยุทธศาสตร์พลังเเผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ภายใต้รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนโยบายที่ต้องการหยิบยกปัญหายาเสพติดให้เป็นวาระเเห่งชาติ โดยมุ่งให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเเก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว โดยยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม

เเม้รัฐบาลจะประกาศไว้ชัดเจนว่า ผู้เสพคือผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาเพราะไม่ใช่อาชญากร เเต่ในทางปฏิบัติผู้เสพยาเสพติดยังคงถูกจับกุมจำนวนมาก ภาคประชาสังคมจึงกังวลว่า กระบวนการบำบัดรักษาตามนโยบาย ที่เน้นระบบบังคับบำบัดมากกว่าความสมัครใจ อาจไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของผู้ใช้ยาเสพติด

ขณะที่รองผู้อำนวยการ สถาบันธันญารักษ์เห็นต่างจากภาคประชาสังคม โดยเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำผู้ต้องคดีเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการบังคับบำบัด

ส่วนแนวทางการเเก้ปัญหาเเละบำบัดผู้ติดยาเสพติดตลอด 10ปีที่ผ่านมานั้น อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามยาเสพติดมองว่า ภาครัฐอาจต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบาย

สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาสังคม จะเสนอต่อรัฐบาล มี 3 ประเด็นหลัก คือ รัฐต้องมีมาตรการเอื้อให้ผู้ใช้ยา ได้เเสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผยไม่ถูกจับกุม หรือตีตราว่าเป็นอาชญากร รัฐควรดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด เเละสุดท้าย ภาครัฐควรทบทวนกระบวนการนโยบายเเละการบังคับใช้กฏหมาย เกี่ยวกับการบำบัดรักษาเเละฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ใช้ยาหรือยาเสพติด โดยเฉพาะกฏหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ปี 2545 ซึ่งมีเจตนารมณ์หลัก คือ ผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง