ภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งห่วงการวิจัยยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

26 มิ.ย. 56
15:26
85
Logo Thai PBS
ภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งห่วงการวิจัยยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

ผลศึกษาวิจัยการใช้ยาทินอฟโฟเวียในผู้ป่วยที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึงร้อยละ 74 ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของการพัฒนาทางเลือกในการป้องกันเเละลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี เเต่ในมุมมองของภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งยังเป็นกังวลถึงการดำเนินการตามโครงการศึกษาวิจัยนี้ โดยเสนอให้ทำอย่างรอบด้าน ควบคู่ไปกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อลดผลกระทบ

เสียงหนึ่งจากอาสาสมัครโครงการศึกษายาทินอฟโฟเวีย ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเลือก ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อในอนาคต โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงอย่างพวกเขา ที่ยังไม่สามารถเลิกใช้ยาเสพติดชนิดฉีดได้

โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งเเต่ปี 2548 มีผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีทั้งชาย เเละหญิงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการจำนวน 2,413 คน

อาสาสมัครจะถูกสุ่มเลือกเพื่อกินยาทินอฟโฟเวีย และยาหลอกวันละ 1 เม็ด ซึ่งยาทินอฟโฟเวีย เเละยาหลอกจะมีลักษณะที่เหมือนกันทั้งขนาด สี เเละรสชาด โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้วิจัย หรืออาสาสมัครทราบว่าใครได้รับยาจริง หรือยาหลอก ผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับยาทินอฟโฟเวีย 1,204 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 17 คน

ขณะที่อาสาสมัครที่ได้รับยาหลอก 1,207 คน พบว่ามีผู้ติดเชื้อมากถึง 33 คน ทำให้ทราบว่าผลการวิจัยสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 49 ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังพบว่า อาสาสมัครที่กินยาสม่ำเสมอตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ได้ถึงร้อยละ 74

เเม้งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นความก้าวหน้าของการพัฒนาทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ เเต่ภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งยังกังวล เเละตั้งคำถามถึงงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะเห็นว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดควรดำเนินการเเบบรอบด้าน ควบคู่ไปกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่จะต้องใช้ผสมผสานกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะนโยบายการเเจกเข็มให้กับอาสาสมัคร ซึ่งจะเป็นอีกเเนวทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

ขณะที่ผู้วิจัยให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่โครงการศึกษาไม่มีนโยบายเเจกเข็ม เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย เเต่อาสาสมัครหลายคนไม่อยากให้มองว่าการแจกเข็มเป็นการส่งเสริมให้เสพยา เเต่มันเป็นวิธีป้องกัน เเละลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวี

สำหรับโครงการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ คณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างประสานงานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปขยายผลให้เกิดเป็นนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้ยาชนิดนี้ในระบบบริการทางด้านสาธารณสุข เพื่อลดผลกระทบ เเละความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง