ประชาพิจารณ์กรณีคลื่น 1800 หมดสัมปทาน คุ้มครองผู้บริโภคได้หรือไม่

Logo Thai PBS
ประชาพิจารณ์กรณีคลื่น 1800 หมดสัมปทาน คุ้มครองผู้บริโภคได้หรือไม่

เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงประเด็นมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทาน คลื่น 1800 MHz ก่อนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 25 กรกฎาคมนี้

 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่มีการนำเสนอของสื่อมวลชนก่อนนำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... ซึ่งที่ประชุม กสทช. มีมติให้ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ณ สโมสรกองทัพบก ดังนี้ 

 
ประเด็นแรก กรณี กสทช. รู้ว่าสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงนานแล้วทำไมไม่มีการให้เปิดประมูลล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด นายฐากร กล่าวว่า ตามกฎหมายการที่ กสทช. จะให้มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใดๆ ได้นั้น กฎหมายบังคับให้ กสทช. จะต้องจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ทั้งสามแผน  ได้แก่ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ได้ 
 
ซึ่ง กสทช. หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็ได้รีบดำเนินการจัดทำแผนแม่บททั้งสามแผนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งแผนแม่บททั้งสามแผน ก็ได้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2555 ซึ่ง กสทช. ก็ได้มีการเปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 2.1 GHz หรือที่เรียกกันว่าใบอนุญาต 3G ทันที พร้อมกันนี้ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่สัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งตามข้อเท็จจริงยังเป็นปัญหาข้อกฎหมายระหว่างกระทรวงไอซีที และกสทช. ที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่าคลื่นความถี่นั้นจะคืนมาที่หน่วยงานใด ทั้งกระทรวงไอซีทีและกสทช. จึงได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันในการหาทางออก แต่ก็ยังไม่สามารถหา ข้อยุติในเรื่องดังกล่าวได้ 
 
ในส่วนของกระทรวงไอซีทีเองก็อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 74 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อขอขยายระยะเวลาสัมปทานออกไป ดังนั้นการที่จะให้มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจดำเนินการได้  
 
ประเด็นที่ 2 ร่างประกาศดังกล่าวเป็นการขยายสัมปทานออกไปหรือไม่นั้น เลขาธิการ กสทช. ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการในการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากกรณีสิ้นสุดการสัมปทานไม่ได้เป็นการขยายสัญญาสัมปทานแต่อย่างไร 
 
ประเด็นที่ 3 กรณีที่มีความเข้าใจว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบมจ. กสท โทรคมนาคม (กสท) หรือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด นั้น เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า (ร่าง) ประกาศ ดังกล่าวเป็นร่างประกาศที่จะมีผลบังคับใช้ทั่วไปกับทุกๆสัญญาสัมปทานที่กำลังจะสิ้นสุดลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า จึงไม่ใช่ร่างประกาศที่จะใช้บังคับเฉพาะกรณีของ กสท หรือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เท่านั้น จึงไม่มีการเอื้อประโยชน์ใดๆ ตามที่เป็นข่าว 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง