แผนการลดและยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์

6 ก.ค. 56
07:13
113
Logo Thai PBS
แผนการลดและยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์

ไทยใช้แร่ใยหินในภาคอุตสาหกรรม มานานถึง 40 ปี แต่มติ ครม.ปี 2554 เห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เพื่อป้องกันมะเร็งปอด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำแผนยกเลิก และคาดว่าจะเสนอแผนยกเลิกแร่ใยหิน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางการโต้แย้งจากคณะกรรมการสุขภาพ ว่าระยะเวลาการยกเลิกนานเกินไป

กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดัน แผนการลดและยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ในสินค้าอุตสาหกรรม ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ทำใหเเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กับ รายละเอียดบางส่วนของแผนยกเลิก

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า แผนฉบับนี้เป็นแนวทางยกเลิกใช้แร่ใยหินกับสินค้า 5 รายการ ได้แก่ กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้น ซึ่งให้ยกเลิกใช้ภายใน 2 ปี เพราะมีผลิตภัณฑ์อื่นและวัสดุทดแทนแร่ใยหิน

ส่วนผ้าเบรกและคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินภายใน 5 ปี เพราะสินค้าเหล่านี้ กระทบผู้บริโภคเพราะวัสดุทดแทนมีราคาแพง และยืนยันว่าการจัดทำแผนคำนึงผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม ข้อกฎหมาย และรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องมาแล้วหลายครั้ง

โดยมีรายงานว่าวันที่ 24 ก.ค.2556 กระทรวงสาธารณสุข จะสรุปว่า แร่ใยหินมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ ขณะที่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า แผนยกเลิกใช้แร่ใยหินในสินค้าบางประเภทยังไม่เหมาะสม เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ที่ผู้ผลิตบางรายยังไม่ยกเลิกใช้แร่ใยหิน

 ปัจจุบันผู้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคารายใหญ่4 ราย ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ประเภทกระเบื้องซีเมนต์ที่ไม่ใช้แร่ใยหิน ย่อมหมายถึงว่าทุกบริษัทสามารถผลิตสินค้าไม่มีแร่ใยหินออกมาจำหน่ายได้ทั้งหมด แต่อาจมีเหตุผลทางธุรกิจที่ทำให้บางรายยังใช้แร่ใยหินเป็นวัสดุในการผลิต

ปัจจุบันยังมีการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ กว่า 50,000ตัน จากที่เคยนำเข้าถึง 200,000 ตันมากกว่าร้อยละ 90 กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือกระเบื้องลอน โดยตลาดกระเบื้องลอนมีมูลค่าปีละ 10,000 ล้านบาท ทั้งผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยังมีกระเบื้องลอนใช้แร่ใยหินอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ผู้ผลิตสินค้าส่วนหนึ่ง เปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบอื่นแทนแร่ใยหินแล้ว แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยืนยันถึงความจำเป็นของแร่ใยหินที่มีความคงทนและราคาถูกกว่าวัสดุทดแทน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง