นิทรรศการ"ไฉไลไปไหน" ทุกความสวยมีที่มา

Logo Thai PBS
นิทรรศการ"ไฉไลไปไหน" ทุกความสวยมีที่มา

ตกแต่งห้องแสดงนิทรรศการ ราวกับโรงงานความงาม กระทบกระเทียบสาวรุ่นใหม่ที่สวยเหมือนกันราวกับแฝดเพียงแค่ทำศัลยกรรม อีกตัวอย่างของความงามในนิทรรศการไฉไลไปไหน ที่พาย้อนไปดูประวัติศาสตร์ความงาม ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ ที่หนีไม่พ้นต้องอาศัยความอดทน

ปทุมถันกลมกลึง เอวหนา ต้นขาใหญ่ รวมถึงสะโพกที่ผายอย่างงดงาม เป็นค่านิยมความงามของเทพีที่เราเห็นสลักอยู่ตามปราสาทหินโบราณ พิมพ์นิยมของผู้คนในราชอาณาจักรขอม มิติความงามในอดีตที่มาจากคัมภีร์และความเชื่อทางศาสนาจัดแสดงในห้อง "แน่นอก แบบขอม แน่นอก แบบแขก" ส่วนหนึ่งของนิทรรศการไฉไลไปไหน ทุกความสวยมีที่มา ทุกความงามมีที่ไป

รวมไปถึงการที่ต้องดัด และพับฝ่าเท้าจนหัก แล้วใช้ผ้าดึงปลายเท้าเข้าหาส้นเท้าแล้วมัดให้แน่น จนได้เท้าไซด์ "ซานชุ่นจินเหลี่ยน" หรือ ดอกบัวทอง ที่ตามประเพณีจีน เชื่อว่าเท้าเล็กเพียง 7 เซนติเมตรนี้ หากออกเรือนจะได้สามีที่ร้ำรวย เหมือนดั่งหญิงสามัญชนในภาพยนตร์เรื่อง "จดหมายลับไป่เหอ"  ที่เท้าทรงอวบอูม เล็กเรียว สามารถผลิกชีวิตของเธอไปสู่ชื่อเสียงเงินทอง และเกียรติยศ ความเชื่อความงามอย่างจีน จัดแสดงในห้องแรงปรารถนาแห่งปลายเท้า นิทรรศการที่ชวนให้หาคำตอบในเรื่องความงามของผู้หญิง ที่มักมาพร้อมความอดทน และเจ็บปวด โดยเฉพาะความงามในปัจจุบันที่พึ่งมีดหมอศัลยกรรม เนรมิตรใบหน้าได้ดั่งฝัน ความงามยุคใหม่สะท้อนอยู่ในห้องเกาหลี ฟีเวอร์ รักนะ ยัยจมูกงอน

ความงามที่ถูกพูดถึง และเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกส่วนใหญ่มาจากฝั่งตะวันตก อย่างแฟชั่นรัดติ้ว เอวกิ่วแค่คืบ ความงามของสาวยุควิคตอเรียน ที่สวมคอร์เซต เพื่อให้ได้รอบเอวเพียง 16 นิ้ว กับหุ่นสะโอดสะองทรงนาฬิกาทราย จนเป็นมาตรฐานความงามของผู้หญิงทั่วยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระแสเอวบางยังเผร่แพร่ไปทั่วผ่านสื่อภาพยนตร์ฮอลีวูด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสวยต่างวัฒนธรรม ที่มีความเชื่อต่างกันไปด้วย ทั้งสาวแถบเอธิโอเปีย หรือ คองาม ระหงอย่างสาวเผ่ากะเหรี่ยง และห้องจัดแสดงอ้อนแอ้นอย่างนางสีดา นิทรรศการไฉไลไปไหน ทุกความสวยมีที่มา ทุกความงามมีที่ไป จัดถึง 29 กันยายน ที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ มิวเซียมสยาม


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง