"โสตะสติ" บรรเลงเพลงสร้างสมาธิ

Logo Thai PBS
"โสตะสติ" บรรเลงเพลงสร้างสมาธิ

การใช้ใจจดจ่อ และรู้ในทุกขณะทำให้มีสมาธิ ก่อให้เกิดสติในการดำเนินชีวิต แต่มีพุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม ที่พยายามหาวิธีการทำสมาธิ ที่เหมาะกับตัวเอง และทำได้ง่ายๆ โดยการฝึกสมาธิกับอาสาสมัครนักดนตรีชาวอเมริกัน ที่ใช้เสียงเพลงเป็นสื่อ เปลี่ยนเสียงรบกวนเป็นสมาธิแบบโสตะสติ

เสียงอิเล็กทรอนิกส์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ผสมผสานกับเสียงเปียโนบรรเลงสด และเสียงร้องที่เกิดจากอารมณ์ ณ ขณะนั้น เป็น 3 วัตถุดิบทางดนตรี ที่แกรี่ ฮอล์ และเพื่อน ใช้เป็นเป็นตัวช่วยสร้างสมาธิ แบบโสตะสติ วิธีปฏิบัติทางถนัดของ 2 นักดนตรีชาวต่างชาติที่นับถือพุทธศานา และมาร่วมเป็นธรรมภาคี หรืออาสาสมัครที่หอพุทธทาสอินทปัญโญ สวนรถไฟกว่า 3 ปีแล้ว หลังจากที่เคยไปสวนป่าโมกข์ ที่อำเภอไชยา เมื่อ 8 ปีก่อน   แกรี่ ฮอลล์ มีเพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียง 6 ชิ้น คือ คอมพิวเตอร์พกพา ไอแพค ไอพอด เอ็มพี 4 และแป้นพิมพ์มินิคอนโทรล ที่พกพาไปทุกที่เพื่อสร้างเสียงได้อย่างที่ต้องการ  การกำหนดรู้จากการฟัง มาจากประสบการณ์เมื่อครั้งแกรี่ เดินทางไปศึกษาดนตรีทางตอนใต้ของอินเดีย และประทับใจในเสียงสวดมนต์ ของพระสงฆ์นิกายมหายาน       

แกรี่ ฮอล์ ธรรมมะภาคี  และนักดนตรี เปิดเผยเทคนิคว่า ผู้ฝึกต้องมีใจจดจ่ออยู่กับเสียง โดยเฉพาะที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ที่อยู่กลางใจเมือง ไม่เพียงได้ยินเสียงเพลง แต่มีเสียงบรรยากาศรอบตัว รถยนต์ ผู้คนขวักไขว่ และเสียงจากธรรมชาติ แต่อีกเสียงที่เราต้องให้ความสำคัญคือ เสียงจากจิตใจภายใน   

จิรภัทร์ บัวอิน เจ้าหน้าที่กิจกรรม หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ลองนั่งสมาธิแบบโสตะสติ ซึ่งหัวใจหลักคือการใช้หูฟัง แต่การฟังที่ว่าต้องฟังแบบจดจ่อเพื่อให้เกิดสมาธิ เพราะหากฟังเพียงเพลิดเพลิน หรือเพื่อผ่อนคลายนั้น ไม่ถือว่าเป็นการฝึกที่ถูกหลัก

โอม แบบฝึกหัดการเปล่งเสียงจากบทสวด ที่ช่วยสร้างสมาธิในขั้นแรกเริ่ม หลังจากทุกคนได้นั่งล้อมวงแนะนำตัว ทำความรู้จักและบอกเหตุผลต่างๆ กันไป สมาชิกบางคนแวะมาเป็นครั้งแรกตามคำบอกเล่าของเพื่อน บางคนค้นหาวิธีทำสมาธิที่เหมาะกับตัวเอง ในขณะที่หนึ่งในสมาชิก เพิ่งสูญเสียมารดา การจากไปที่เกินจะรับไหว ทำให้หันพึ่งธรรมมะ และหวังใช้สมาธิเพื่อเดินหน้าในวันต่อไป

ปราชญ์ ภารา สมาชิกโสตะสติ กล่าวว่า มาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพราะทำงานด้วย และกำลังจะสอบนักบิน จึงต้องใช้สมาธิมาก คิดว่าเหมาะกับตัวเอง เพราะการกำหนดลมหายใจบางทียาก เพราะมันเป็นอะไรที่เบามาก

ในวัย  62 ปี แกรี่ ฮอลล์ เกษียณตัวเอง มาใช้ชีวิตในแบบที่เขาชอบที่เมืองไทย และไม่เคยทิ้งดนตรีที่เขารัก แกรี่ เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 11 ปี และศึกษาด้านแจ๊ส อิมโพรไวเซชั่น ที่เมืองบอสตัน โดยมีผลงานชิ้นโบว์แดง ที่คนในวงการเพลงอิเล็กทรอนิกส์รู้จักกันดี นั่นคือ การออกแบบอุปกรณ์ดิจิตอลเพื่อสร้างเสียงดนตรีลูปปิ้ง ที่เราได้ยินกันอยู่ในปัจจุบัน การแสดงเพลงบรรเลงเพื่อการปฏิบัติสมาธิ หรือ โสตะสติ โดย แกรี่ ฮอลล์ จัดขึ้นทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ตั้งแต่ 18.30 น. ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนรถไฟ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง