ซ่อมสงวนมรดกวัฒนธรรม บันทึกรอยมรดกชาติ

Logo Thai PBS
ซ่อมสงวนมรดกวัฒนธรรม บันทึกรอยมรดกชาติ

อายุของชิ้นงานและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม มีผลกับการเสื่อมสภาพของจิตรกรรมเก่าแก่ แต่งานอนุรักษ์ที่ไม่เป็นการทำลายคุณค่าที่แท้จริงของศิลปกรรมเก่า ยังมีผู้รู้ไม่มาก ศาสตร์ศิลป์ที่ทำเพื่อบันทึกรอยมรดกชาติในภาพจิตรกรรมฝาผนัง

การถมพื้นด้วยดินสอพอง ช่วยเสริมความมั่นคงของชั้นปูน เป็นวิธีการรองพื้นเนื้อละเอียดที่สุดในงานซ่อมสงวนจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดช้างใหญ่ ก่อนลงสีสันตามแบบศิลปกรรมเดิมสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถอดลายเส้นบอกตำแหน่งภาพไว้ก่อนหน้านี้ คือกระบวนการซ่อมสงวนภาพจิตรกรรมที่ชั้นสีโป่งพอง-หลุดร่อน เพราะความชื้นสะสม เนื่องจากตัวอาคารจมอยู่ในน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร คราวน้ำท่วมใหญ่เกาะเมืองอยุธยา เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว

กว่า 6 เดือนมานี้นายช่างอนุรักษ์ราว 10 คน ลงมือบูรณะภาพไตรภูมิ ชุมนุมเทวดาและมารผจญ ด้วยการผสมผสานเทคนิคศิลปกรรมเพื่อให้คงลักษณะเดิมของลายเส้นไทยประเพณี ที่บันทึกคติความเชื่อทางศาสนา และวิถีความเป็นอยู่ผู้คนในอดีต 

ขวัญจิต เลิศศิริ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มอนุรักษ์ฯ สำนักโบราณคดี เผยว่า เดิมทีก่อนเข้ามาซ่อม ภาพเหล่านี้เสียหาย จนยืนใกล้หายใจแทบจะปลิวไปเหมือนกระดาษ ถ้าเราไม่รักษาไว้ ร่องรอยจากลวดหายคงหายไปหมดไม่เหลือ เพราะภาพเหล่านี้เป็นภาพสำคัญที่สะท้อนความเป็นมาของคนในอดีต การแต่งกาย

ผลจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 นอกจากทำให้ภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดช้างใหญ่ ได้รับความเสียหาย ผนังปูนด้านนอกผุกร่อนหลุดร่อนไปด้วย นายช่างอนุรักษ์จึงซ่อมเสริมความแข็งแรง ด้วยปูนน้ำอ้อย เป็นปูนหมักปูนตำแบบโบราณที่ต้องใช้เวลาหมัก 3-4 เดือนก่อนนำมาใช้งาน วิธีการซ่อมสงวนเหล่านี้ ที่รอการเรียนรู้จากนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ๆ

ภาพทศชาติชาดก พุทธประวัติ ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วิถีชีวิตและการละเล่นไทยในอดีตที่ช่างศิลป์สมัยนั้น รับอิทธิพลสร้างสรรค์งานในยุคเปิดโลกค้าขายกับจีน บันทึกอยู่ในจิตรกรรมอุโบสถวัดประดู่ทรงธรรม ผ่านการซ่อมสงวนจนให้เส้นสีที่ชัดเจนขึ้น แต่คงรูปแบบเอกลักษณ์สกุลช่างอยุธยา เป็นตัวอย่างความรู้ความเข้าใจภาคสนาม หวังให้ประสบการณ์ซ่อมสงวนของนักอนุรักษ์ที่ผ่านมา ช่วยเติมทักษะสร้างช่างอนุรักษ์รุ่นใหม่

สมศักดิ์ แตงพันธุ์ ช่างอนุรักษ์ศิลปกรรมอาวุโส-วิทยากร กล่าวว่า จิตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของศิลปกรรมในอาคาร ซ่อมสงวนจากปัจจัยแวดล้อม แต่ไม่ไปเปลี่ยนเติมสีสันวาดใหม่ ดูเหมือนไม่ได้ซ่อม เพื่อคงความเก่าให้เห็นคุณค่าอายุสมัย

รศ.กฤษณา หงษ์อุเทน  ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร เผยว่า ที่ผ่านมางานอนุรักษ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำลายคุณค่าโบราณสถาน เมื่อมีประสานความรู้ระหว่างศิลปกรรมและเทคโนโลยี จะทำให้การอนุรักษ์ยั่งยืนขึ้น

ในยุคก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมไทยยังมีสีสันไม่มาก เนื่องจากช่างเขียนอาศัยแม่สีที่มีในธรรมชาติ ต่อมาสีวิทยาศาสตร์จากจีนและญี่ปุ่นเริ่มมีบทบาทกับงานจิตรกรรมไทยมากขึ้น และปรากฎภาพสัมพันธ์ของผู้คนต่างดินแดนเด่นชัด เป็นร่องรอยหลักฐานอยู่บนภาพจิตรกรรมร่วมสมัย การขยายความรู้งานซ่อมสงวนสู่ศิษย์ศิลปากรและผู้สนใจ ไม่เพียงสร้างความเข้าใจหลักคิดทำงาน ยังเป็นการวางรากฐานรักษามรดกศิลปกรรมชาติให้มั่นคงด้วย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง