สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

การเมือง
7 ส.ค. 56
01:03
130
Logo Thai PBS
สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องไทยต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงพ้นจากการถูกลงโทษ ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (6 ส.ค.2556) ตำรวจประเมินว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมในวันนี้ได้

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศุนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.)ได้รายงานสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ โดยประเมินว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมวาระแรก จะมีผู้ชุมนุมไม่เยอะ แต่จะมีการเพิ่มปริมาณชุมนุมในการพิจารณากฎหมายในวาระ 3 การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมในวันที่ 7 ส.ค.25556 จึงน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้

นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากการชุมนุมกองทัพประชาชนฯ ซึ่งขาดแกนนำที่มีศักยภาพ และไม่สามารถสร้างกระแสได้ ซึ่งการชุมนุมจะอ่อนแอลงไปเอง

ขณะที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอต่อที่ประชุมว่า นอกจากจะมอบหมายให้ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯแล้ว ในส่วนทางการเมืองควรตั้งทีมชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ในร่าง พ.รบ.นิรโทษกรรมด้วย ซึ่งในที่สุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ นายวราเทพ รัตนากร แกนนำรัฐบาล ชี้แจงในประเด็นดังกล่าว พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนต่อการยั่วยุ โดยปฏิบัติตามกฎหมายตามหลักสากล

 ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของไทยที่กำลังเข้าสู่การพิจารณา โดยระะบุว่าอาจเป็นการนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปฏิบัติการปราบปราม ผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2553

โดยรัฐบาลไทยจึงควรต้องแน่ใจว่าการนิรโทษกรรมใดๆ จะต้องไม่รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ควรใช้มาตรการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเหล่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง