"สื่อนอก-ภาคเอกชนไทย" จับตาสภาฯถกนิรโทษกรรมใกล้ชิด

การเมือง
8 ส.ค. 56
04:19
99
Logo Thai PBS
"สื่อนอก-ภาคเอกชนไทย" จับตาสภาฯถกนิรโทษกรรมใกล้ชิด

ภาคเอกชนยังจับตาการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่า หากไม่เกิดเหตุรุนแรง จะไม่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่นักวิชาการเสนอให้หาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยอาจพิจารณาแนวทางอื่นนอกจากการออกเป็นกฎหมาย ส่วนสื่อมวลชนทั้งไทย และต่างประเทศต่างก็ต้องการให้การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส

"สื่อ" จับตาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น รายงานสถานการณ์การคัดค้าน และต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมอ้างว่า องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรต่างไม่ต้องการให้เกิดการพิจารณาร่างกฎหมายดงกล่าว เพราะมองว่า จะทำให้คนที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต้องถูกลงโทษ
 
ขณะที่ฟ็อกซ์นิวส์ สื่อชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างถ้อยแถลงของโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เรียกร้องประเทศไทยให้ต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพราะเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรจะใช้กฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่ก่อเหตุ
 
 
รมว.ต่างประเทศย้ำรัฐบาลใช้วิธีปรองดอง-เตรียมเรียกยูเอ็นเอชซีอาร์หารือ
 
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงระหว่างการประชุมสภาฯเมื่อวานนี้ (7ส.ค.56) ว่า การที่ฝ่ายค้านหยิบยกเรื่อง แถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ ยูเอ็นเอชซีอาร์ นั้น ความจริงแล้ว เป็นเพียงความห่วงใยว่า อาจมีการละเว้นโทษให้กับผู้กระทำผิดโทษละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ทางมิชอบในการสั่งให้มีการใช้กำลังประท้วงต่อต้านรัฐบาล
 
โดยแถลงการณ์ยังได้ย้ำให้รัฐบาลไทย ปฏิบัติแนวทางการปองดอง ตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งเบื้องต้น ได้เชิญตัวแทนยูเอ็นเอชซีอาร์มาพบในวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม เพื่อหารือ และชี้แจงว่า การให้ข่าวในลักษณะนี้กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย
 
องค์กรวิชาชีพสื่อ ร้องรัฐ ถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ
 
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนของไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมสภา ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชน
 
สำหรับความเห็นของนักวิชาการนั้น รศ. สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ประเมินว่า หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 และ 3 สู่วาระการประชุมในสภาฯ ต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังมีการแบ่งฝ่ายเลือกข้าง จะทำให้เหตุการณ์เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
 
  
 
นอกจากนี้ ยังเสนอทางออกของสถานการณ์การเมืองปัจจุบันว่า รัฐบาลควรปลดล็อกถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากนั้นจึงให้ สภาปฏิรูปประเทศ มาพูดคุยกันด้วยความจริงใจ โดยรับฟังทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทย
 
ด้านนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วปัญหาของประเทศต้องมีการพูดคุยกัน เพียงแต่ในกระบวนการคุย มีหลายด้าน ซึ่งเรื่องสำคัญๆ อาจไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหา ด้วยการจัดการใน รูปแบบเท่านั้น ความจำเป็นขณะนี้ คือ ต้องให้ปัญหาความขัดแย้งอยู่ในสภา แต่ไม่ใช่รูปแบบสภาเท่านั้น โดยอาจใช้กลุ่มที่ไม่เป็นทางการในสภา ให้เป็นสายใยเชื่อมโยงความขัดแย้ง
 
  
 
ภาคเอกชน หวังการเมืองใช้ "เหตุ-ผล" หวั่นกระทบศก.หยุดชะงัก
 
ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชื่อว่า เวทีรัฐสภาน่าจะเป็นจุดที่หาทางออกได้ ซึ่งการพิจารณาร่างกฎหมายมีหลายขั้นตอนกว่าจะประกาศเป็นกฎหมายจึงน่าจะมีความรอบคอบ ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้สถานการณ์การเมืองใช้เหตุและผล ไม่ควรการให้พัฒนาประเทศหยุดชะงัก รวมทั้งคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักแต่ก็ต้องติดตามต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร
 
ขณะที่นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ความขัดแย้งหาข้อยุติได้ในสภารวมทั้งไม่ต้องการให้การชุมนุมที่มีอยู่เกิดารปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปีนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง