เปิดรายงานกสม. : ผลการตรวจสอบการชุมนุม ปี 2553

การเมือง
9 ส.ค. 56
04:41
224
Logo Thai PBS
เปิดรายงานกสม. : ผลการตรวจสอบการชุมนุม ปี 2553

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยผลรายงานการตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มีการพกพาอาวุธ ไม่เป็นไปโดยสงบ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่รัฐบาลในขณะนั้น มีความผิดฐานละเลยไม่คุ้มครองประชาชน ไม่มีมาตรการรับมือที่รอบคอบ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ เพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 2553 โดยเป็นการเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ของ กสม.สามารถเข้าไปเปิดได้ที่เว็บไซด์ www.nhrc.or.th

 
สำหรับมีเนื้อหาระบุถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการชุมนุม โดยระบุว่า การปฏิบัติทั้งสองฝ่ายมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นำมาสู่ความแตกแยกทางสังคมแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน บางกรณียังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม
 
สำหรับการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในแต่ละเหตุการณ์ ได้มีการเผยแพร่ข้อเท็จจริงและความเห็นใน 8 กรณี เช่น กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เม.ย. 2553 ที่กลุ่ม นปช.ได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม ปิดล้อมและบุกเข้าอาคารรัฐสภา กสม.เห็นว่า เป็นการชุมนุมที่ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้กำลังความรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองคุ้มครองไว้
 
  
 
ส่วนกรณีการชุมนุมและการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ นปช. เห็นว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมเกินขอบเขต แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ใช่วิธีการปกติ และมีการปรากฏตัวของชายชุดดำฉวยโอกาสทำให้สถานการณ์วุ่นวายด้วยการใช้อาวุธสงคราม มีคนบาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินราชการเสียหาย ซึ่งแกนนำมีหน้าที่ต้องระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแทรกแซงใช้ความรุนแรง เพื่อให้การชุมนุมกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ลุกลามไปสู่ความรุนแรง แต่กลับพบว่ามีการใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรง รวมถึงการใช้และปิดกั้นพื้นที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น จึงถือเป็นการใช้สิทธิ์เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญประกาศไว้
 
ส่วนการสลายการชุมนุม การสั่งยุติการชุมนุม การขอคืนพื้นที่ของรัฐนั้น แม้จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะพบว่า การกระทำของรัฐเป็นการกระทำโดยประมาท ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และเมื่อรัฐมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทนั้น
 
ตลอดจนดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสมแก่ผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ครบถ้วนทั่วถึงอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนบาดเจ็บเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
 
  
 
ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ คือ คณะรัฐมนตรีควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฏหมายพิเศษ เว้นแต่การชุมนุมจะแปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์วิกฤต หรือการจลาจลที่กระทบต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง คณะรัฐมนตรีจะต้องทบทวนถึงแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 ที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
 
คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามรายงานฉบับนี้มีข้อค้นพบที่เป็นปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงจากการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องร่วมกันหาทางออก คณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม หรือบุคคลใดก็ตาม มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
 
คณะรัฐมนตรีควรตระหนักและหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่จะนำไปสู่การเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ / และคณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการสร้างความเป็นธรรมในระยะการเปลี่ยนผ่านของสังคม โดยต้องทำความจริงในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ปรากฏ และมีมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยยึดหลักกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงการชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง