เปิดเวทีระดมความเห็นสร้างความเข้าใจ "ไร่หมุนเวียน" รักษาป่า-ลดโลกร้อน

สังคม
16 ส.ค. 56
14:21
459
Logo Thai PBS
เปิดเวทีระดมความเห็นสร้างความเข้าใจ "ไร่หมุนเวียน" รักษาป่า-ลดโลกร้อน

นักวิชาการ-ชาวกระเหรี่ยงปกเกอะญอ ระดมความเห็น แนวทางสร้างความเข้าใจภาครัฐ ในการทำ "ไร่หมุนเวียน" ชี้ ไม่ได้ทำลายป่า แต่ช่วยรักษา-ลดโลกร้อน

วันนี้ (15ส.ค.56) เวทีระดมความคิดเห็น งานพหุวัฒนธรรมกระเหรี่ยงกับสังคมไทย : วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ในเชิงนโยบายมีชาวกระเหรี่ยงปกเกอะญอ ร่วมแสดงความคิดเห็น ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำไร่หมุนเวียน และการอยู่ร่วมกันในสังคม  โดยเฉพาะประเด็น ความไม่เข้าใจเรื่องการทำ "ไร่หมุนเวียน" 

 
นายหยง หนึ่งในแกนนำขาวกระเหรี่ยง ชาวปกเกอะญอ ระบุว่า 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการตามมติครม. เกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียน ที่ระบุว่า จะให้มีการเพิกถอนกฏหมายละเมิดสิทธิ์, การยุติการข่มขู่คุกคามจากการทำไร่หมุนเวียน และการสำรวจแนวเขตต่าง ๆ อย่างชัดเจน ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าไหร่นัก เพราะยังมีการข่มขู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประกาศให้พื้นที่ที่ไร่หมุนเวียนของชาวกระเหรี่ยงเป็นพื้นที่อุทยาน ซึ่งส่งผลไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้
 
ทั้งนี้ ตัวแทนจากหลากหลายพื้นที่ ได้เสนอแนวคิด และทางออก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การออกกฏหมายลูกเพื่อรองรับสิทธิชุมชน 3 ฉบับ ได้แก่ การรับรองสิทธิ, การจัดการที่ทำกิน และกองทุนฟื้นฟู รวมไปถึงการเสนอให้ภาครัฐทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ในการทำไร่หมุนเวียน ที่ไม่ใช่การทำเพื่อทำลายป่าไม้อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ, การทำแผนนำร่องโครงการ, การทบทวนสัมปทานป่าไม้, การออกโแนดที่ดิน เพื่อป้องกันการซื้อของนายทุน 

  

 
นอกจากนี้แล้ว ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการอำนาจของภาครัฐในการสั่งการต่าง ๆ ที่การดำเนินการมักหยุดชะงักลง เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ตลอดจนให้ชาวกระเหรี่ยงสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในกลุ่มของตัวเอง 
 
ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่อง "ไร่หมุนเวียน" ของชาวกระเหรี่ยงในขณะนี้ ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมป่าไม้ ยังเข้าใจว่า การทำไร่หมุนเวียน คือ การทำลายป่า คล้ายการทำไร่เลื่อยลอย และคนไม่สามารถอยู่กับป่าได้ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนนั้น ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยง ที่สืบทอดกันมา เพราะมีการทำพิธีกรรม มีรากฐานของการวัฒนธรรม ตลอดจนการทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้ทำเชิงพาณิชย์ แต่ทำแต่พอดี และพอกินเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลเสียต่อการทำลายป่าแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ การจะแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังนี้ได้ ดร.มาลีระบุว่า ชาวกระเหรี่ยงต้องรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งก่อน ขณะเดียวกันภาครัฐ ต้องทำความเข้าใจในวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวกระเหรี่ยง ก่อนวิเคราะห์ หรือหาทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยปราศจากอคติ และไม่ทำลายวิถีดั้งเดิมของชาวกระเหรี่ยง

    

 
สอดคล้องกับ ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร ปราชญ์กระเหรี่ยง และนายกสมาคมปกเกอะญอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวยืนยันว่า การทำไร่หมุนเวียนนั้น เริ่มได้รับการยอมรับจากสังคมโลกมากขึ้น หลังมีการวิจัยว่า สามารถรักษาป่า และช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งชาวกระเหรี่ยงต้องใช้ข้อดีด้านนี้ เป็นตัวต่อสู้ เพื่อไม่ให้วิถีชีวิต รวมถึงพิธีกรรม และวัฒนธรรมของการทำไร่หมุนเวียนนั้นต้องหายไป นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องลบภาพลักษณ์ที่มองว่าชาวกระเหรี่ยง คือ ผู้ทำลายป่าด้วย 
 
ทั้งนี้ หากห้ามไม่ให้ชาวกระเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียน จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยงเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศในป่าด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ชาวกระเหรี่ยงสืบทอดการทำไร่หมุนเวียน และได้แสดงให้เห็นว่า การทำไร่หมุนเวียนนั้น สามารถรักษาป่าได้ในระยะยาว
 
ดร.ประเสริฐยังกล่าวอีกว่า แนวคิดการรักษาป่าของภาครัฐนั้น ไม่เหมาะสมกับการจัดการป่าในแถบตะวันออกอย่างประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ชาวกระเหรี่ยงจำเป็นต้องแสดงตัว และบทบาทมากขึ้น เพื่อให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับปัญหา ซึ่งขณะนี้ ภาครัฐบางส่วนก็เริ่มเห็นด้วยกับแนวคิดการทำไร่หมุนเวียนแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง