"The Wind Rises" การ์ตูนต้านสงครามของสตูดิโอจิบลิ

Logo Thai PBS
 "The Wind Rises" การ์ตูนต้านสงครามของสตูดิโอจิบลิ

แอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลินั้นขึ้นชื่อเรื่องการสร้างความประทับใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผลงานล่าสุดที่จับประเด็นด้านประวัติศาสตร์สงครามของชาติ นำไปสู่แรงต่อต้านจากทั้งฝั่งเสรีนิยมและกลุ่มอนุรักษ์นิยมไปพร้อมๆ กัน

แม้การเป็นคนสายตาสั้นจะทำให้ จิโร่ เด็กหนุ่มจากต่างจังหวัดไม่สามารถสานฝันในการเป็นนักบินได้ แต่นั่นทำให้เขาหันมามุ่งมั่นกับความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการสร้างเครื่องบินเป็นของตนเอง คือเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจใน The Wind Rises แอนิเมชั่นเรื่องใหม่ของค่ายสตูดิโอจิบลิ ซึ่งทำเงินในญี่ปุ่นแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท และได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต้และเวนิซที่กำลังจะถึงนี้ แต่ผลงานกำกับครั้งแรกในรอบ 5 ปีของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ก่อตั้งจิบลิ กลับถูกวิจารณ์เรื่องการหันมาสร้างการ์ตูนเชิดชูนักผลิตอาวุธสงคราม เนื่องจากเรื่องชี้ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของ จิโร่ โฮริโคชิ วิศวกรผู้ผลิตเครื่องบินซีโร่ ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 
 
ฮายาโอะ มิยาซากิ กล่าวว่าเขามีความผูกพันกับจิโร่ โฮริโคชิตั้งแต่เกิด เนื่องจากบิดาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตหางเสือให้กับเครื่องบินซีโร่ และยังเปิดคลับสำหรับทหารอเมริกันที่เข้ามาควบคุมประเทศ ซึ่งในสายตาของเขา ญี่ปุ่นต่อสู้กับสงครามที่ไร้ความหมาย ซึ่งชีวิตของโฮริโคชิมาช่วยสะท้อนความเจ็บปวดของนักประดิษฐ์หนุ่มผู้เห็นความฝันในการบินของเขา ถูกนำไปใช้สร้างอาวุธสำหรับเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ 
 
แรงต่อต้านต่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ ยังมาจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่น ที่หาว่าเขาเป็นทรยศต่อชาติ หลังเขาตีพิมพ์ความเรียงต่อต้านสงครามในจุลสารของจิบลี โดยเฉพาะการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 9 ของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้ต้องการเปลี่ยนสถานะกองทัพญี่ปุ่นจากกองกำลังป้องกันตนเองในปัจจุบัน ไปสู่การเป็นกองทัพที่สามารถต่อสู้ในสงครามเต็มรูปแบบในอนาคต 
 
ริวซูเกะ ฮากาวะ นักวิจารณ์แอนิเมชั่นมองว่า The Wind Rises เป็นสาส์นของผู้สร้างการ์ตูนที่ต้องการเตือนสติกระแสชาตินิยมในญี่ปุ่น โดยวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ในการ์ตูนมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตเมื่อปี 1923 กับเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งทั้ง 2 ครั้งนำไปสู่การตกต่ำทางเศรษฐกิจ และเปิดทางให้กระแสชาตินิยมกลายเป็นเครื่องมือชักจูงมวลชน ซึ่งครั้งหนึ่งสิ่งนั้นเคยเป็นแรงผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามมาแล้ว ซึ่งสำหรับมิยาซากิแล้ว ญี่ปุ่นในอุดมคติของเขาคือประเทศที่มีประชากรเพียง 30 ล้านคน จึงไม่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ และสามารถกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง ผู้คนเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์จากการเกษตร และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หากสิ่งเหล่านั้นจะทำให้ธุรกิจเชิงทุนนิยมอย่างวงการแอนิเมชั่นไม่มีอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยอีกต่อไป จึงเลือกที่จะให้มันเป็นแบบนั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง