เลขาฯ สมช.เผยงดประชุม ศปก.กปต.

การเมือง
22 ส.ค. 56
05:05
142
Logo Thai PBS
เลขาฯ สมช.เผยงดประชุม ศปก.กปต.

เลขาธิการ สมช.ระบุว่างดประชุมศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.ปกต.ในวันนี้ (22 ส.ค.) ไปก่อน แต่ว่าจะมีการหารือกันในวงเล็กภายในฝ่ายความมั่นคงก่อนที่จะมีการนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุม ศปก.กปต.ต่อไป

การประชุมศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.ปกต.จากเดิมที่จะมีการประชุมในวันนี้ (22 ส.ค.) ล่าสุด มีรายงานว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่างดไปก่อน แต่ว่าจะมีการหารือกันในวงเล็กภายในฝ่ายความมั่นคงก่อนที่จะมีการนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุม ศปก.กปต.ต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ในการประชุม ศปก.กปต.จะมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งต่อไป รวมถึงข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ซึ่งข้อเสนอบีอาร์เอ็น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่าไม่รับข้อเสนอที่เข้าข่ายขัดต่อข้อกฎหมาย และยังไม่อยากให้ถามถึงผลสรุป เพราะยังมีอีกหลายข้อที่ต้องพูดคุยกัน ต้องใช้เวลา และต้องเตรียมการกันให้ดี ซึ่งเห็นว่าปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ต้องแก้ทั้ง 3 ฝ่ายคือประชาชน ผู้ก่อความไม่สงบ และเจ้าหน้าที่ รวมถึงต้องระวังไม่ให้ต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า ในการประชุม ศปก.กปต.ได้มอบหมายให้รองเสนาธิการทหารอากาศไปร่วมประชุม โดยข้อมูลขั้นต้นที่พิจารณาเห็นว่าข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ไม่ปฏิเสธที่จะเปิดช่องทางในการที่จะทำให้เกิดสันติภาพโดยเร็ว โดยทางกองทัพอากาศสนับสนุนช่องทางที่สามารถทำได้

ส่วน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยถึงกรณีการเลื่อนการพูดคุยสันติภาพจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก เพราะประเด็นยังเหมือนเดิม คือทางบีอาร์เอ็นต้องการให้ทางการไทยรับข้อเสนอ 5 ข้อ ส่วนทางไทยก็อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งต้องตีความให้ชัดเจน โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิพลเมือง หรือให้รับรองความเป็นมลายูปัตตานี ที่ตอนนี้กำลังขอให้ทางบีอาร์เอ็นส่งคำชี้แจงอย่างละเอียดมาให้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์การพูดคุยสันติภาพอยู่ในภาวะคลุมเครือ แต่ถ้าทั้ง 3 ฝ่าย คือ ไทย บีอาร์เอ็น และคนกลางประเทศมาเลเซียยังดำรงจุดหมายร่วมกัน ก็เชื่อว่ากระบวนการจะยังดำเนินการต่อไปได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง