ประธานสภายางฯ เสนอ 2 แนวทางปัญหาแก้ปัญหายางราคาตก

สังคม
27 ส.ค. 56
05:09
62
Logo Thai PBS
ประธานสภายางฯ เสนอ 2 แนวทางปัญหาแก้ปัญหายางราคาตก

ประธานสภายางพาราแห่งประเทศไทยเสนอ 2 แนวทางให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางพารา พร้อมเจรจากับรัฐบาลทุกเมื่อด้วยการหารือกับแกนนำสวนยางพาราจากทั่วประเทศเพื่อกำหนดราคากลางยางพาราใน 7 ตลาดหลักเป็นราคาเดียว ยืนยันไม่มีกลุ่มการเมืองสนับสนุนการเคลื่อนไหวชุมนุม

วันนี้ (27 ส.ค.) นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ควรจะหารือแกนนำสวนยางพาราในทุกพื้นที่ก่อนที่จะดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ และควรช่วยเหลือชาวสวนยางพาราอย่างเร่งด่วน โดยหากเทียบเคียงกับกรณีของคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ที่กำหนดราคารับจำนำข้าว โดยข้าวนาปีอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวนาปรังอยู่ที่ 13,000 บาท  และมีงบประมาณกว่า 270,000 ล้านบาท  ขณะที่ยางพาราซึ่งได้สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยเช่นกันโดยในปี 54 สร้างรายได้ถึง 630,000 ล้านบาท ขณะที่ข้าวสร้างรายได้อยู่ที่ 190,000 ล้านบาท

 
ขณะที่ ราคายางพาราซึ่งรัฐบาลอ้างว่าอิงกับราคาตลาดโลกทำให้ไม่สามารถให้ในราคาที่สูงได้นั้น ควรแก้ไขที่ราคายางโดยตรง โดยมีวิธีแก้ไข 2 ข้อ 1.งดการจัดเก็บเงินสงเคราะห์สวนยาง หรือ เซต โดยที่ผ่านมามีการจัดเก็บที่ กก.ละ 0.90 - 5 บาท โดยพ่อค้าจะจัดเก็บจากชาวสวนยางพารา กก.ละ  5 บาท ซึ่งรัฐบาลควรกำหนดอัตราที่เดียวกัน ที่ กก.ละ 1.50 บาท และหยุดการเก็บเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางพารา เนื่องจากการส่งออกยางพาราไปแข่งกับต่างชาติ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่ได้เก็บเงินชดเชยดังกล่าว ขณะที่ราคาขายในตลาดโลกก็ถูกกว่ายางพาราไทยกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน  ดังนั้นจึงต้องปรับลดเงินเซตลงมาก่อนเพื่อบรรเทาวิกฤติดังกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องประกาศราคากลางยางพาราในตลาดหลักยางพาราทั่วประเทศทั้ง 7 แห่ง อาทิ ยะลา หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี หนองคาย บุรีรัมย์ ระยอง โดยจะเป็นราคาเดียวที่ยางแผ่นดิบ กก.ละ 92 บาท และส่วนต่างรัฐบาลก็ต้องชดเชยให้ชาวสวนยางพารา เนื่องจากรัฐบาลเคยระบุว่า ตามราคาต้นทุนการผลิตที่กำหนดไว้อยู่ที่ กก.ละ 64.45 บาท โดยชดเชย 30 % ซึ่งจะมีราคาอยู่ที่ กก.ละ 84 .45 บาท โดยหากราคายางพาราอยู่ที่ ประมาณ 70 บาท รัฐบาลก็ควรชดเชยส่วนต่างแล้วให้พ่อค้าดำเนินการขายต่อไป และหากเก็บไว้ 210,000 ตัน จะต้องเสียค่าเก็บค่าโกดัง เดือนละกว่า 20 ล้านบาทและเสี่ยงต่อความเสียหาย ซึ่งควรปล่อยขายตามกลไกลตลาดต่อไป

ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรที่จะเรียกแกนนำชาวสวนยางพาราทั่วประเทศเข้าหารือเพื่อกำหนดราคากลางที่รับได้ว่าควรจะอยู่ที่เท่าใด โดยเริ่มประกาศพร้อมกัน โดยแกนนำสวนยางพาราพร้อมที่จะเข้าเจรจากับรัฐบาล หลังจากที่ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังรัฐบาลแล้ว 4 ฉบับ

ทั้งนี้ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับแนวทางที่กระทรวงเกษตรฯเตรียมของบประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนการผลิต และกระทรวงการคลังจะเสนองงบประมาณวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่เห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว  ซึ่งได้มีการหารือกับ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯแล้วเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยชาวสวนยางต้องการแก้ไขด้านราคายางพาราในระยะเร่งด่วนเป็นหลัก หากรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือ โดยเทียบเคียงกับข้าวได้ช่วยเหลือด้วยวงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยยางพารารัฐบาลควรจะช่วยเหลืออยู่ที่ประมาณ 10,000 - 20,000 ล้านบาท

ขณะที่การบรรเทาความเดือดร้อนใน ของประชาชนในการเดินทางสัญจรจากการที่ผู้ชุมนุมชาวสวนยางปิดถนนใน อ.ควนหนองหงส์ และสี่แยกบ้านปูน จ.นครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดควรที่จะเข้าพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะมีเงื่อนไขอยู่ที่การติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ( 23 ส.ค.)

 
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ยืนยันว่า การออกมาชุมนุมของชาวสวนยางพาราครั้งนี้ปราศจากการสนับสนุนของกลุ่มพรรคการเมืองเนื่องจากชาวยสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง และมีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในหลายจังหวัด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง