ก.เกษตรฯเตรียมของบฯ 15,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ปลูกยาง

สิ่งแวดล้อม
28 ส.ค. 56
01:36
125
Logo Thai PBS
ก.เกษตรฯเตรียมของบฯ 15,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ปลูกยาง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 15,000 ล้านบาท เพื่อดูแลการผลิตยางทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเตรียมแนวทางสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย และส่งเสริมโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกปาล์มทดแทน

ในการประชุมคณะกรรมการองค์การสวนยางเพื่อพิจารณาแนวทางการนำยางในสต็อกจำนวน 200,000 ตันมาใช้ นายยุคล ลิ้มเเหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่ารัฐจะยังไม่ระบายยางออกต่างประเทศในขณะนี้เพราะจะยิ่งทำให้ราคายางตกต่ำ แต่อาจนำมาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น ใช้ทำถนน ถุงมือยาง และเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ขณะที่การแก้ปัญหาราคายางในประเทศ ขณะนี้ได้เร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรสวนยางที่ชุมนุมในพื้นที่ภาคใต้ถึงแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยยืนยันว่าไม่สามารถรับแทรกแซงราคาได้ตามที่ร้องขอ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้ดำเนินการแทรกแซงไปแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องใช้แนวทางการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ขณะนี้ไทยมีสต็อกยางอยู่ประมาณ 500,000 ตัน จากเอกชน 300,000 ตัน และสต็อกรัฐบาล 200,000 ตัน ที่ยังไม่สามารถระบายออกได้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือ ด้านต้นทุนการผลิต และสนันสนุนให้มีการเเปรรูปยางพาราเพิ่มขึ้นแทนการขายเป็นยางก้อนถ้วย หรือน้ำยางดิบ โดยคาดว่าจะใช้วงเงิน 5,000 ล้านบาท

แต่ในระยะสั้นรัฐจะช่วยเรื่องของปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ย โดยโอนเงินให้แก่เกษตรกรโดยตรง ภายใต้วงเงิน 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นต้นยางที่มีอายุเกิน 25 ปี เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันแทน แต่ทั้งนี้จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป

ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมมีการปิดถนนและทางรถไฟนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขนย้ายผู้โดยสาร โดยขบวนรถไฟสายใต้ขาขึ้นจะหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีจังหวัดพัทลุง ส่วนขาล่องจากกรุงเทพฯ จะหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีทุ่งสง ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะยืดเยื้อนานกี่วัน

นอกจากนี้ยังให้ ร.ฟ.ท.ในพื้นที่ ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และบริษัทขนส่งในการขนย้ายผู้โดยสาร นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบท ไปศึกษาหาเส้นทางเลี่ยงการชุมนุม เนื่องจากมีการปิดถนนหลายพื้นที่

การปิดเส้นทางการเดินรถไฟ สร้างความเสียหายต่อ ร.ฟ.ท. ทั้งในแง่ของรายได้ และการเสียโอกาส และทำให้ผู้โดยสารรถไฟเดือดร้อน เนื่องจากเส้นทางสายใต้มีผู้โดยสารจำนวนมาก แต่ก็เข้าใจถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง