ญี่ปุ่นยกเลิกแบนการ์ตูนสงคราม

Logo Thai PBS
ญี่ปุ่นยกเลิกแบนการ์ตูนสงคราม

ความรุนแรงในสื่ออาจไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน แต่เนื้อหาโหดร้ายของสงครามในการ์ตูน กลับได้รับการปกป้องโดยกลุ่มการศึกษาในญี่ปุ่น ในฐานะบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของสงครามอย่างแท้จริง

ภาพบ้านเรือนและร่างกายของชาวเมืองฮิโรชิม่าถูกทำลายล้างโดยระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945 สื่อถึงความโหดร้ายของสงครามใน ฮาดาชิ โน เกน หรือ เกน เจ้าหนูสู้ชีวิต ผลงานของนักเขียนการ์ตูนผู้ล่วงลับ เคอิจิ นาคาซาวา ที่จำหน่ายไปแล้วกว่า 10 ล้านฉบับทั่วโลกใน 20 ภาษา และถูกสร้างเป็นหนังและละครอย่างต่อเนื่อง แต่ผลงานต่อต้านการทำสงครามนี้กลับถูกสภาการศึกษาเมืองมัตสึเอะเสนอให้มีการแบนในห้องสมุดในสถานศึกษาของเมือง เนื่องจากมีเนื้อหาที่รุนแรงเกินไปสำหรับเยาวชน

ฮาดาชิ โน เกน สร้างจากชีวิตจริงของ เคอิจิ นาคาซาวา ผู้อยู่ในวัย 7 ขวบ เมื่อครั้งที่เขาเห็นสมาชิกในครอบครัวในเมืองฮิโรชิม่าเสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู เขาจึงนำประสบการณ์ในฐานะผู้รอดชีวิตมาถ่ายทอดลงในการ์ตูน หวังให้ผู้คนตระหนักถึงความโหดร้ายของสงคราม แต่ภาพการฆ่าฟันที่สยดสยองทำให้นักการศึกษาในเมืองมัตสึเอะเห็นว่าการ์ตูนซึ่งหาได้ทั่วไปในห้องสมุดร้อยละ 80 ของโรงเรียนประถมและมัธยมในเมืองไม่เหมาะสมต่อเยาวชน โดยเฉพาะภาพทหารญี่ปุ่นแสดงพฤติกรรมป่าเถื่อนต่อสตรีต่างชาติ ซึ่งถูกต่อต่านโดยกลุ่มชาตินิยมว่าเป็นการใส่ร้ายกองทัพของชาติด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

แผนการแบนดังกล่าวถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย รวมถึงการประท้วงโดยครูใหญ่จากโรงเรียน 44 แห่งที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นบทเรียนเกี่ยวกับสงครามต่ออนาคตของชาติ จนแผนการแบนดังกล่าวต้องยกเลิกไป โดยเปิดโอกาสให้แต่ละสถานศึกษาตัดสินสินใจว่าการ์ตูนเรื่องนี้เหมาะกับแห่งสมุดของตนหรือไม่

มิซาโยะ นาคาซาวา ภรรยาหม้ายวัย 70 ปีของ เคอิจิ นาคาซาวา ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเมื่อเดือนธันวาคม กล่าวว่าในฐานะผู้ช่วยสามีระหว่างเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ในยุค 70 เคยเตือนเขาถึงความโหดร้ายที่สามีเขียนลงไปในการ์ตูน แต่นาคาซาวาตอบกลับมาว่าไม่มีสิ่งสวยงามในสงคราม และเด็กๆ จะไม่มีทางรับรู้ความเลวร้ายของสงครามหากไม่นำเสนอออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเธอจะเสียใจมากหากฉากโหดร้ายเหล่านั้นทำให้การ์ตูนถูกแบน เนื่องจากหัวใจของผลงานนี้คือการเปรียบเปรยชีวิตของผู้คนกับต้นข้าว เหมือนการถูกเหยียบย่ำซักกี่ครั้งสามารถกลับมางอกงามได้ ซึ่งเป็นบทเรียนให้เยาวชนยุคใหม่มีความเพียรมากยิ่งขึ้น

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง