คมนาคม เผย"ยางพารา" ทำถนน ช่วยลดงบประมาณซ่อมถนน

เศรษฐกิจ
30 ส.ค. 56
14:11
98
Logo Thai PBS
คมนาคม เผย"ยางพารา" ทำถนน ช่วยลดงบประมาณซ่อมถนน

เกษตรกรชาวสวนยาง เห็นด้วยกับเเนวคิดการนำยางพาราไปทำถนน โดยขอให้รัฐบาลบรรจุไว้ในเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่กระทรวงคมนาคม ยอมรับว่าวิธีการนี้ จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เเต่สามารถช่วยประหยัดงบประมาณสำหรับการซ่อมเเซมถนนได้มาก

การนำยางพารา อัตราร้อยละ 5 ผสมกับยางมะตอยร้อยละ 95 ( พารา สเลอรี่ซีล) มาฉาบบนผิวถนนหนา 8 มิลลิเมตร ถูกนำมาใช้บนโทลเวย์ขาออก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เผยว่าข้อดีของยางพาราผสมยางมะตอยมาฉาบผิวถนนคือ ทำให้มีความคงทนสูง สามารถต้านทานการลื่นไถลได้ดี และอีกรูปแบบคือ การนำไปผสมและทำเป็นถนนทั้งเส้น หรือพาราเอซี

ทั้งนี้กระทรวงฯจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราทำถนน โดยตั้งเป้าหมายจาก 1,000 ตันต่อปี เป็น 10,000 ตัน

ด้านนายมนตรี เดชาสกุลสม  ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง กล่าวว่าต้นทุนการทำถนนด้วยการนำยางพาราเป็นส่วนผสม จะสูงขึ้นร้อยละ 18 แต่ผลดีคือความทนทานสามารถลดงบประมาณการซ่อมแซมได้มากกว่าเท่าตัว

 รองศาสตราจารย์ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ ระบุว่าการใช้ยางพารามาทำถนนอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากมีต้นทุนสูง และขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า การใช้ยางพาราจะมีคุณภาพดีกว่ายางมะตอย พร้อมกับเห็นว่า ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาสูง จึงควรนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมควรหาแนวทางนำยางพาราไปผลิตสินค้าอื่น เช่น นำไปผสมในพลาสติกที่ใช้ทำหมวกกันน็อกรถจักรยานยนต์ เนื่องจากยางพารามีความยืดหยุ่นไม่แตกง่าย

ขณะที่นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ชาวสวนยางจ.พิจิตร ระบุว่า หากมีการใช้ยางมาทำถนนจะช่วยดูดซับปริมาณยางในตลาดได้มาก

ทั้งนี้รัฐบาลควรบรรจุไว้ในเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ซึ่งจะช่วยดึงราคายางปรับเพิ่มขึ้นได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง