ประชาชนรับภาระ"สินค้า-บริการ"พาเหรดขึ้นราคา

เศรษฐกิจ
1 ก.ย. 56
14:03
173
Logo Thai PBS
ประชาชนรับภาระ"สินค้า-บริการ"พาเหรดขึ้นราคา

แม้วันนี้ (1 ก.ย.) จะเป็นวันหยุดพักผ่อนจากการทำงานของคนส่วนใหญ่ แต่อาจเป็นวันที่บางคนเริ่มกังวลเกี่ยวกับรายจ่ายที่มากขึ้น จากสินค้าและบริการหลายรายการที่ทยอยขึ้นราคา ทั้งแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าทางด่วน โดยเฉพาะค่าทางด่วนที่ปรับขึ้นประมาณ 5 - 10 บาท ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดีขึ้นตามอัตราที่ปรับขึ้น ขณะที่เครือข่ายผู้บริโภค มองว่าภาระค่าครองชีพที่ประชาชนต้องเผชิญ เกิดจากนโยบายฝ่ายการเมืองเอง รวมถึงการไม่มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

หลังรัฐบาลไฟเขียวให้ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นกับการครองชีพ ซึ่งถูกชี้แจงด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่แตกต่างกันไป อัตราค่าทางด่วนสำหรับรถ 4 ล้อ เคยเริ่มจาก 30 บาท เมื่อปี 2536 ตามสัญญาสัมปทานกับบริษัททางด่วนกรุงเทพ ต้องปรับทุก ๆ 5 ปี จนขณะนี้ เพิ่มเป็น 50 บาท โดยทางด่วนขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และบูรพาวิถี ปรับครั้งล่าสุดระยะละ 5-10 บาท หรือประมาณร้อยละ 9 โดยในมุมผู้ใช้บริการ เมื่อขึ้นราคาก็น่าจะปรับปรุงคุณภาพตามไปด้วย
                  

<"">

ส่วนค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มในรอบบิลนี้เช่นกัน แต่เป็นการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ที่เหตุผลหลักมาจากเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับต้นปี ทำให้ต้นทุน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินนำเข้า น้ำมันเตา และไฟฟ้าที่ซื้อจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น ค่าเอฟทีปรับจาก 47 สตางค์ เป็น 54 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 7 สตางค์ ต่อหน่วย เมื่อคำนวณจากตัวอย่างการใช้ไฟฟ้า 100 หน่วย ค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระทั้งหมดเพิ่มขึ้นเกือบ 7 บาท นอกจากนี้ ปัจจัยค่าเงินและความไม่สงบในแอฟริกาเหนือยังส่งให้น้ำมันดิบนำเข้าราคาแพงขึ้น และจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกบ้านเราอยู่ในขาขึ้นต่อไป

สำหรับนโยบายปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ที่รัฐมีมาตรการบรรเทาผลกระทบให้ผู้มีรายได้น้อยใช้แก๊สราคาเดิม แต่รัฐยอมรับเองว่า ระยะแรกอาจยังไม่เข้าที่เข้าทาง เช่น นายบุญทัน พันยะกิจ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ย่านวิภาวดีรังสิต ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ ระบุว่า หากรับภาระไม่ไหว อาจเลือกใช้วิธีลดต้นทุนอื่นแทน เพื่อเลี่ยงการขึ้นราคาจำหน่ายอาหาร
  
<"">
 
<"">

ขณะที่นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า ค่าครองชีพที่ประชาชนต้องแบกรับอย่างไม่เป็นธรรม เกิดจากนโยบายฝ่ายการเมือง และการเมืองก็ไม่สนับสนุนการตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่จะเป็นตัวแทนปกป้องสิทธิ์

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า สินค้าและบริการที่ พาเหรดปรับขึ้นในเวลานี้ กระทบอัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย และเงินเฟ้อขณะนี้ชะลอตัวจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่น่าจะปรับขึ้นช่วงปลายปี ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และไม่น่ากังวลภาวะเงินฝืด สอดคล้องกับคำยืนยันกระทรวงพาณิชย์ แต่ต้องจับตาการแถลงตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนสิงหาคมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ว่าจะมีทิศทางอย่างไร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง