เรียนรู้ความปรองดอง ผ่านเวทีปาฐกถาพิเศษ "ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันผ่านประสบการณ์"

2 ก.ย. 56
14:46
62
Logo Thai PBS
เรียนรู้ความปรองดอง ผ่านเวทีปาฐกถาพิเศษ "ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันผ่านประสบการณ์"

เวที ปาฐกถาพิเศษ "ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันผ่านประสบการณ์" มีการระดมความเห็นพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมา มีวิทยากรจากต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญจากไทย เสนอให้ไทยเริ่มกระบวนการเจรจา เพื่อกำหนดเป้าหมายของแต่ละฝ่าย พร้อมยกตัวอย่างการเจรจาสันติภาพจากทั่วโลกมาเป็นข้อเรียนรู้ถึงแนวทางการยอมรับซึ่งกันและกัน

ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเสียงส่วนใหญ่กับเสียงส่วนน้อย เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่สร้างคุณค่าให้ตัวเอง และไม่รู้สึกแตกต่างโดยใช้หลักนิติธรรม คำกล่าวอดีตผู้นำอังกฤษ โทนี่ แลร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในเวที "ผนึกกำลังสู่อนาคต เรียนรู้ร่วมกันผ่านประสบการณ์" ที่กล่าวย้ำให้รัฐบาลกล้าให้ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส และรับฟังเสียงของประชาชนทุกด้าน

ซึ่งจากประสบการณ์พยายามเจรจาสันติภาพไอร์แลนด์เหนือกับสหราชอาณาจักรหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ได้บทเรียนการสร้างปรองดองแบบแบ่งอำนาจอย่างสมดุล

ขณะที่มาร์ตติ อาห์ติซารี่ อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ระบุว่า กระบวนการปรองดองเป็นเรื่องยาก แต่เกิดขึ้นได้ จากประสบการรณ์เป็นผู้ผลักดันการเจรจาสู่สันติภาพที่ นามิเบีย อาเจะห์ และโคโซโว ทำให้รู้ว่าแต่ละที่มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่มีความท้าทายเหมือนกัน นั่นคือ การสร้างความไว้วางใจ เมื่อสร้างความไว้ใจ จะนำไปสู่การทำตามข้อตกลงที่เกิดสันติ

เช่นเดียวผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านระบุว่า การปรองดองเกิดขึ้นได้ต้องไม่ปิดบังความแตกต่าง และระวังการใช้คำว่าปรองดอง ผิดวัตถุประสงค์ หากจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องรับฟังเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ  การปรองดองจะเดินหน้าไปได้นั้น ต้องปราศจากการข่มขู่ ยอมรับความแตกต่าง มีความริเริ่มสร้างสรรค์บรรยากาศทางการเมือง

บรรยากาศการกล่าวปาฐกถาดูครึกครื้นเพิ่มขึ้น เมื่อมีคำถามจากอดีตเลขาธิการของอาเซียน ฝากถึงวิทยากรทั้ง 3 เมื่อ สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคการเมือง แต่มาโดยส่วนตัว ถามถึงบริบทเมืองไทย ที่ดูจะต่างต่างจากหลักการที่วิทยากรกล่าวมา เพราะความขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะ 2 พรรคการเมือง และไทยยังมีปัญหาถูกแทรกแซงจากภายนอก ผ่านสไกป์

ขณะที่หลายฝ่าย มองว่ากระบวนการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากนัยยะทางการเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศระบุว่า เรื่องกลไกความปรองดองเป็นเรื่องภายใน ที่ต้องจริงใจเจรจา เป็นเรื่องที่ต่างชาติแทรกแซงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความรับผิดชอบคนในชาติ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง