กระแสการสร้างหนังภาษาอังกฤษของผู้สร้างหนังเมืองคานส์

Logo Thai PBS
กระแสการสร้างหนังภาษาอังกฤษของผู้สร้างหนังเมืองคานส์

แม้ปีนี้จะไม่มีหนังอังกฤษเข้าชิงปาล์มทองคำ แต่ครึ่งหนึ่งของผลงานที่ชิงรางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ คือ หนังที่สร้างในภาษาอังกฤษ แต่การหวังใช้ภาษาอังกฤษคอยส่งเสริมให้ภาพยนตร์เป็นที่สนใจของแฟนหนังนานาชาติ กลับสวนทางกับกระแสปัจจุบันที่แฟนหนังสนับสนุนภาพยนตร์ท้องถิ่นมากขึ้น

เรื่องราวในโลกอนาคตที่คนโสดถูกบังคับให้หาคู่ภายในเวลา 45 วัน เพื่อเลี่ยงจากการถูกรัฐบาลจับแปรสภาพให้เป็นสัตว์ คือ เนื้อหาตลกร้ายของ The Lobster ผลงานชิงปาล์มทองคำของผู้กำกับชาวกรีซ ยอร์กอส ลันธิมอส ที่ผันตัวมาสร้างหนังในภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก ไม่ต่างจากเปาโล ซอร์เรนติโน ผู้กำกับแถวหน้าของอิตาลี ที่ส่ง Youth ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษที่ได้สองนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างไมเคิล เคน และ ฮาร์วีย์ ไคเทล เข้าชิงเช่นกัน

ผลงานชิงปาล์มทองคำทั้ง 20 เรื่องในปีนี้ มีถึง 10 เรื่องที่ถ่ายทำในภาษาอังกฤษ โดยกว่าครึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับจากชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ โดยเธียร์รี เฟรโมซ์ ประธานจัดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ยอมรับว่าแต่ละปีมีผู้สร้างหนังนานาชาติส่งหนังภาษาอังกฤษมาพิจารณานับไม่ถ้วน ส่วนเจเรมี โธมัส ผู้อำนวยการสร้างผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทั้ง The Last Emperor และ Merry Christmas Mr. Lawrence ชี้ว่าผู้กำกับหลายคนต้องการสร้างหนังในภาษาอังกฤษ เพราะสามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนมาก และยังเปิดทางไปสู่การร่วมงานกับนักแสดงจากหลากหลายเชื้อชาติอีกด้วย

หนึ่งในผู้กำกับที่ส่งหนังภาษาอังกฤษชิงปาล์มทองคำปีนี้ยังรวมถึงมัตเทโอ การ์โรเน เจ้าของรางวัล Grand Prix เมื่อปี 2008 ที่นำนิทานเก่าแก่ของอิตาลีมาถ่ายทอดในภาษาอังกฤษโดยทีมนักแสดงนานาชาติในเรื่อง The Tale Of Tales โดยการ์โรเนจำเป็นต้องใช้ล่ามแปลภาษาระหว่างถ่ายทำไปด้วย ซึ่งผู้กำกับยืนยันว่าการสร้างหนังในภาษาอังกฤษจะทำให้หนังที่เล่าถึงนิทานพื้นบ้านของอิตาลี เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่าสร้างในภาษาอิตาเลียน

อั้งลี่ คือ ตัวอย่างของผู้กำกับต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหนังในภาษาอังกฤษ ทั้งจาก Sense and Sensibility และ Life Of Pi แต่ที่ผ่านมา มีผู้กำกับแนวอาร์ทเฮาส์ไม่น้อยที่ล้มเหลวจากการสร้างหนังเอาใจผู้ชมที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งเฟอร์นานโด เมไรเลส ผู้กำกับชาวบราซิลผู้โด่งดังจาก City of God แต่หนังภาษาอังกฤษในยุคต่อมาทั้ง Blindness และ 360 กลับไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิจารณ์ ส่วนผู้กำกับใหญ่จากวงการหนังจีนทั้งหว่องกาไว และ เฉินข่ายเก๋อ ต่างเสียเครดิตจากการทำหนังภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะ Killing Me Softly ของเฉินข่ายเก๋อ กลายเป็นหนังไม่กี่เรื่องที่ได้รับ 0 คะแนนจากเว็บไซต์วิจารณ์หนัง Rotten Tomatoes

การหันมาสร้างหนังภาษาอังกฤษของผู้กำกับนานาชาติ ส่วนทางกับกระแสของคนดูหนังในปัจจุบันที่หันมาสนับสนุนภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศ นอกจากการเติบโตของตลาดภาพยนตร์ในประเทศของชาติในเอเชียแล้ว แฟนหนังในฝรั่งเศส เจ้าภาพจัดเทศกาลภายนตร์เมืองคานส์ก็หันมาสนับสนุนภาพยนตร์ฝรั่งเศสกันมากขึ้น จนปี 2014 กลายเป็นปีที่วงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสทำเงินได้สูงที่สุดในรอบ 50 ปี ด้วยยอดจำหน่ายตั๋วกว่า 209 ล้านใบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง