แผ่นดินไหวปัจจัยเสี่ยงสนามกีฬาถล่ม

กีฬา
5 ก.ย. 56
14:52
76
Logo Thai PBS
แผ่นดินไหวปัจจัยเสี่ยงสนามกีฬาถล่ม

นอกจากปัจจัยของแฟนกีฬาจำนวนมากที่อาจจะมีผลทำให้อาคารกีฬาเก่า เกิดความเสียหาย หรือพังลงมาขณะแข่งขันแล้ว สถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่เพิ่มความถี่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือมากยิ่งขึ้น

นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือศูนย์เอราวัณ ยอมรับว่าในเมืองหลวงที่มีประชากรเกือบ 10 ล้านคน เกิดเหตุสาธารณภัยบ่อยขึ้น และมีความรุนแรงกว่าในอดีต แต่ปัจจัยที่ศูนย์เอราวัณตระหนักถึงความอันตราย คือสาธารณภัยจากแผ่นดินไหว เนื่องจากมีสถิติบ่งชัด

ขณะที่บุคลากรของศูนย์เอราวัณมีประมาณ 70 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากกับการเตรียมรับมือเหตุสาธารณภัยที่รุนแรง แต่เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายระบบการแพทย์ทั้งเอกชน และภาครัฐ และบรรดาอาสาสมัคร ทำให้มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกว่า 700 คน ซึ่งในปีที่แล้วสถิติการเกิดสาธารณภัยมีถึง 4,035 ครั้ง โดยเกิดเหตุอาคารทรุด อาคารถล่ม 3 ครั้งในปีที่ผ่านมา

สำหรับการซ้อมแผนรับเหตุครั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับสนามกีฬา และอาคารกีฬา ที่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น โดยสนามศุภชลาศัยที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2480 ปัจจุบันมีอายุถึง 76 ปีแล้ว

ขณะที่อาคารนิมิบุตรสร้างในปี 2506 มีอายุ 50 ปี และอาคารจันทนยิ่งยงมีอายุ 48 ปี โดยก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2508 อธิบดีกรมพลศึกษายอมรับว่าบางครั้งในกมส์สำคัญที่มีแฟนกีฬาต้องการเข้าชมมากๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณผู้ชมได้
 
แม้ในประเทศไทยยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับสนามกีฬา แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สนามกีฬาของสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย เกิดเหตุราวกั้นเหล็กอัฒจรรย์ชำรุดหักลงมา ทำให้แฟนบอลสุโขทัยอย่างน้อย 20 คนได้รับบาดเจ็บจากการตกลงมา แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

แต่เหตุการณ์สนามกีฬาถล่มเคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศในปี 2550 อัฒจรรย์ชั้นบนสุดของสนามฟุตบอล ฟอนเต้โนว่า ในเมืองซัลวาดอร์ ประเทศบราซิล ที่มีอายุกว่า 50 ปีถล่ม หลังจากแฟนบอลจำนวน 60,000 คนในสนามกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ เหตุการณ์นี้ทำให้แฟนบอล 9 คนตกลงมาเสียชีวิต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง