"ศาลปกครอง" ยังไม่มีคำสั่งคดีปรับราคา"แอลพีจี"

เศรษฐกิจ
11 ก.ย. 56
04:33
59
Logo Thai PBS
"ศาลปกครอง" ยังไม่มีคำสั่งคดีปรับราคา"แอลพีจี"

หลังศาลปกครองกลางใช้เวลาไต่สวนกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและพวก กรณีเห็นชอบการปรับขึ้นราคาแอลพีจี นานกว่า 5 ชั่วโมง แต่ยังไม่มีคำสั่งคดี และไม่มีการนัดไต่สวนครั้งต่อไป

จากกรณีศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดี ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 คน หลังมีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม หรือแอลพีจีภาคครัวเรือน เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ ทั้งในส่วนของผู้มีรายได้น้อย และร้านค้าหาบเร่แผงลอยอาหาร ให้คงราคาไว้ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จนกว่าจะมีมติให้ปรับราคา

โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 61 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 คน กลับไม่เผยข้อมูลดังกล่าว และยังไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย หลังการไต่สวนข้อมูลจากทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องศาลยังไม่ได้มีการนัดไต่สวนครั้งต่อไป โดยทางตุลาการได้แจ้งว่า หากศาลยังมีข้อสงสัยในเรื่องใด ก็จะมีการเรียกเอกสารเพิ่มเติม และจะมีการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งโดยเร็ว

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยภายหลังศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดี โดยระบุว่า การไต่สวนขอศาลปกครองกลาง เป็นเพียงการนัดไต่สวน เพื่อรับฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมยืนยันว่า กระทรวงพลังงานชี้แจงข้อมูลอย่างโปร่งใสที่สุดแล้ว ซึ่งยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เปิดเผยว่า การไต่สวนวันนี้ มีหลายเรื่องเป็นประเด็นใหม่ และเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน โดยเฉพาะเงินที่ได้จากการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในครั้งนี้ รัฐเอาไปไว้ในกองทุนน้ำมัน ขณะเดียวกันยังเป็นการเลี่ยงภาษีเพราะตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ผู้ใช้น้ำเบนซิน ยังถูกเรียกเก็บภาษีลิตรละ 7 บาท เข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของกระทรวงพลังงาน การปรับขึ้นราคาก๊าซ เพื่อลดภาระผู้ใช้น้ำมัน

นอกจากนี้ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ได้ยอมรับว่า กพช. ไม่มีอำนาจที่จะให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซได้ก่อน และยังพบว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือ ปตท. ใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซร้อยละ 40 ซึ่งภาพรวม 5 ใน 6 โรงกลั่นภายในประเทศไทย มีปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นการกำหนดราคาอาจมีการฮั้วกันได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง