เวทีนางงามสหรัฐฯ กับความหลากหลายทางเชื้อชาติที่กำลังเปิดกว้าง

Logo Thai PBS
เวทีนางงามสหรัฐฯ กับความหลากหลายทางเชื้อชาติที่กำลังเปิดกว้าง

การตัดสินให้สาวเชื้อสายอินเดียครองตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดบนเวทีมิสอเมริกาครั้งล่าสุด กลายเป็นชนวนก่อให้เกิดทั้งเสียงสนับสนุน และต่อต้านในสหรัฐฯ ไม่น้อย ส่วนหนึ่งยังแสดงให้เห็นปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่ยังคงมีอยู่ในสังคมอเมริกันทุกวันนี้

ลีลาเต้นรำคล้ายนางเอกหนังอินเดียของ นีน่า ดาวูลูรี นางงามนิวยอร์กเชื้อสายอินเดีย ซึ่งผ่านการฝึกฝนโดยตรงจากผู้ออกแบบท่าเต้นวงการภาพยนตร์บอลลีวูด ใช้เสน่ห์ของความเป็นอินเดียจูงใจคณะกรรมประกวดนางงามสหรัฐ ซึ่งทั้งความสามารถ และบุคคลลิกก็ช่วยให้เธอครองตำแหน่งมิสอเมริกาประจำปี 2014 ได้ในที่สุด กลายเป็นนางงามเชื้อสายอินเดียรายแรกที่คว้ามงกุฎมิสยูเอสเอ ขณะที่ผู้ครองตำแหน่งรองอันดับหนึ่งเป็นนางงามเชื้อสายจีน ถือเป็นการเปิดกว้างทางเชื้อชาติของเวทีประกวดนางงามในชาติที่มีประชากรกว่า 1 ใน 4 มาจากผู้คนที่มีเชื้อชาติที่หลากหลาย 

 
ก่อนหน้าที่ 1984 ตำแหน่งมิสอเมริกาล้วนตกอยู่กับผู้สมัครผิวขาวทั้งสิ้น กระทั่งตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของ ซูเซ็ต ชาร์ล นางงามจากนิวเจอร์ซีย์ ที่ได้รับตำแหน่งแทน เวเนสซ่า วิลเลียมส์ ผู้ชนะในปีนั้นที่ถูกถอนจากตำแหน่งเพราะถูกเปิดโปงว่าเคยถ่ายภาพเปลือยลงนิตยสาร โดยนางงามเชื้อสายเอเชียรายแรกที่ครองตำแหน่งมิสอเมริกาคือ แองเจล่า เปเรซ บาราควิโต้ นางงามเชื้อสายฟิลิปปินส์ผู้ครองตำแหน่งเมื่อปี 2001 

    

 
ชัยชนะของเธอสร้างความยินดีให้กับผู้คนที่อาศัยในชุมชนชาวอินเดียของนิวยอร์กอย่างมาก หลายคนชี้ว่าชัยชนะของเธอทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจในความเป็นชาวอินเดีย เพราะแม้ว่าในสหรัฐฯ จะมีชาวอินเดียเป็นที่ยอมรับในหลายสาขาอาชีพ แต่ตำแหน่งมิสอเมริกาถือเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นหน้าเป็นตาของชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐเริ่มให้ความสนใจประเด็นเชื้อชาติมากกว่าเแค่มุมมองของคนผิวขาวและผิวดำเหมือนในอดีต 
 
แต่การครองตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดของสหรัฐฯ ของสาวเชื้อสายอินเดีย กลับได้รับการต่อต้านไม่น้อย จากกลุ่มคนที่มีแนวคิดเหยีอดเชื้อชาติ และแสดงออกผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ โดยหลายรายเชื่อมโยงมิสอเมริกาคนล่าสุดกับเหตุการณ์ 11 กันยา โดยโจมตีผู้จัดว่า มอบตำแหน่งให้กับมุสลิม และผู้ก่อการร้าย ไม่ต่างจากครั้งที่ ริม่า ฟาคีห์ ผู้เข้าประกวดเชื้อสายเลบานอนครองตำแหน่งมิสอเมริกาปี 2010 ที่ถูกคนบางกลุ่มเชื่อมโยงเธอกับกลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ 
 
มีผู้วิเคราะห์ว่า เสียงวิจารณ์ด้านเชื้อชาติที่เธอได้รับ ไม่ต่างจากครั้งที่ "บารัค โอบาม่า" กลายเป็นผู้นำผิวสีคนแรกของสหรัฐ เพราะเมื่อใดที่คนผิวสีก้าวขึ้นมาเป็นที่ยกย่องของสังคม แรงต่อต้านจากคนที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ชัยชนะของนีน่า ดาวูลูรี ก็เพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์ว่า ชาติที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอย่างสหรัฐฯ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับผู้มีความแตกต่างทางผิวสีมากขึ้น ดังแนวคิดที่ นีน่า ดาวูลูรี ใช้รณรงค์ระหว่างประกวดที่มองว่า ความหลากหลายของมิสอเมริกามีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และพวกเธอไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาที่ดูเหมือนกันอีกต่อไป 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง