สัญญาณหนี้เสียรถคันแรก และบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น

เศรษฐกิจ
27 ก.ย. 56
05:41
148
Logo Thai PBS
สัญญาณหนี้เสียรถคันแรก และบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น

สัญญาณการเกิดหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลว่า การใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จากกรณีการนำเงินไปส่งค่างวดเช่าซื้อรถยนต์ตามโครงการรถคันแรก ขณะที่บริษัทเช่าซื้อรถยนต์กำลังเกิดปัญหาการระบายรถหลังยึดคืน เนื่องจากติดเงื่อนไขไม่สามารถเปลื่ยนผู้ครอบครองได้ภายใน 5 ปี

ชมรมผู้ติดตามหนี้ที่เป็นธรรม เปิดเผยกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะนี้มีสัญญาณชัดเจนว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะมีการหมุนเวียนกดเงินสด เพื่อนำมาจ่ายค่างวดเช่าซื้อรถยนต์ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณของการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่หนี้เสียในอนาคต

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานชมรมผู้ติดตามหนี้ที่เป็นธรรม ระบุว่า ผู้ขอสินเชื่อ และผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่ยอมจ่ายค่างวดเช่าซื้อรถ ก่อนที่จะจ่ายหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากเมื่อค้างชำระ 1 เดือน บริษัทจะติดตาม และหากค้าง 3 เดือน ก็จะถูกยึดรถ รีบนำมาขายทอดตลาด เพราะรถยนต์ราคาตกเร็วมาก

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า บริษัท ลีสซิง ที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ไม่ต้องการยึดรถคันแรก เพราะติดเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงการคลังที่ห้ามเปลี่ยนมือผู้ครอบครองรถยนต์ภายใน 5 ปี หากขายก่อนจะต้องหักเงินที่ได้คืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไปคืนให้รัฐ ซึ่งหากมีการยึดรถมาแล้ว ขายไม่ได้ทันทีราคารถยนต์จะตกไปเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายเมื่อขายแล้ว ถูกหักภาษีคืน อาจจะไม่พอชำระหนี้ให้กับผู้เช่าซื้อ ทำให้ยอดหนี้เสียอย่างเป็นทางการจากโครงการรถคันแรกไม่สูงตามสถานการณ์จริง แต่ในวงการเช่าซื้อรู้ดีว่าเริ่มมีปัญหามาก

สำหรับสถานการณ์การใช้บัตรเครดิต ที่เอแบคโพลได้ทำการสำรวจ พบว่าคนเมืองมีความนิยมในการใช้บัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมีอายุระหว่าง 25-33 ปี จะใช้บัตรเครดิตควบคู่กับบัตรสินเชื่อเงินสดซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาระหนี้สิน

นอกจากนี้มีผู้ที่ถือบัตรครึ่งหนึ่งหรือ ร้อยละ 50.4 เลือกชำระยอดบัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำเท่านั้น ทำให้ยอดหนี้ไม่ลดลง สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุดเดือน ก.ค.ปี 2556 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 284,000 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 22.37 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีจำนวนทั้งสิ้น 11.02 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.71 ล้านบัญชี โดยมีหนี้เสีย 8,500 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง