ผลกระทบการเล่น 5 เซทของนักเทนนิสหญิง

กีฬา
2 ต.ค. 56
15:19
113
Logo Thai PBS
ผลกระทบการเล่น 5 เซทของนักเทนนิสหญิง

หลังจาก แอนดี้ เมอร์เรย์ จุดประเด็นเสนอให้นักเทนนิสหญิงเล่น 5 เซท เท่ากับนักเทนนิสชาย บรรดานักเทนนิสหญิงก็ไม่ได้ออกมาคัดค้านความคิด แต่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเทนนิสโลกรู้ดีว่าเป็นไปได้ยาก และมีผลกระทบหลายด้านทั้งระยะเวลาการแข่งขันที่ยืดเยื้อ และผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับนักเทนนิส

 
การเสนอให้นักเทนนิสอาชีพหญิงเล่น  5 เซท เคยมีการจุดประเด็นมาแล้วหลายรอบในวงการเทนนิสโลกตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แต่ระยะหลังมีการปลุกกระแสขึ้นมาใหม่ หลังจากที่การแข่งขันแกรนด์แสลมเพิ่มเงินรางวัลชนะเลิศให้นักเทนนิสชาย และหญิงเท่าเทียมกัน แต่การปลุกกระแสของแอนดี้ เมอร์เรย์ ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้จัดแกรนด์สแลมแต่อย่างใด 
 
ในอดีตมีตัวอย่างที่เกิดผลกระทบกับนักเทนนิสหญิงที่โหมเล่นเทนนิสมากเกินไป ซึ่งผลสุดท้ายจบลงด้วยอาการบาดเจ็บทั้งที่มีอายุเพียง 17-18 ปีเท่านั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการเล่นอาชีพ กรณีนี้เกิดจากการออกตระเวนทัวร์ตั้งแต่อายุยังน้อย  
 
บางคนออกทัวร์เมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นมีความพยายามในการออกกฎห้ามนักเทนนิสที่อายุไม่ถึง 14 ปีเล่นอาชีพ เพื่อเป็นการรักษาสภาพร่างกายของนักกีฬา ปัญหาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกระดูกสันหลังข้อสุดท้ายของผู้หญิงจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุครบ 14 ปี 
 
นายเสถียร มนต์คงธรรม ผู้บรรยายและนักวิจารณ์กีฬาเทนนิสมองว่าข้อเสนอที่จะให้เล่น 5 เซทเท่ากับผู้ชายเป็นไปได้ยาก ซึ่งจะกระทบทั้งระยะเวลาการแข่งขันที่ยืดเยื้อออกไป รวมถึงผู้ชมจะรู้สึกเหนื่อยล้า ปัจจุบัน นักเทนนิสอาชีพออกทัวร์กันเร็วมากอยู่แล้ว หากให้เล่น 5 เซท จะยิ่งส่งผลเสียต่อสภาพร่างกาย ซึ่งผู้หญิงมีลักษณะทางกายวิภาคต่างจากผู้ชาย และอวัยวะภายในบอบบาง จึงไม่สมควร หากจะให้ผู้หญิงต้องรับบทหนักเท่ากับผู้ชาย
 
อดีตที่ผ่านมาเคยมีการแข่งขันระบบ  5 เซท ในรายการของนักเทนนิสอาชีพหญิง เพียงรายการเดียวคือ WTA แชมเปี้ยนชิพ ที่คัดเอานักกีฬาดีที่สุดของโลก 8 อันดับแรกไปแข่งขัน ซึ่งใช้ระบบ 5 เซท ในรอบชิงชนะเลิศเท่านั้น ยุคสุดท้ายที่มีการแข่งขันระบบนี้ คือยุคของสเตฟฟี่กราฟ แต่หลังจากนั้นระบบ 5 เซท ใน WTA แชมเปี้ยนชิพ ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง