เกาะติด "เอเปค 2013" หารือผลกระทบสถานการณ์โลกต่อเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก

ต่างประเทศ
8 ต.ค. 56
06:14
143
Logo Thai PBS
เกาะติด "เอเปค 2013" หารือผลกระทบสถานการณ์โลกต่อเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก

การพัฒนาที่เท่าเที่ยมและยั่งยืน การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาคและการป้องกันการกีดกันทางการค้าเป็นความท้าทายหลักที่บรรดาผุ้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกได้นำหารือกันไปพร้อมๆกับการหารือถึงสถานการณ์โลกที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมุ่งให้เอเซียเป็นแปซิฟิกเป็นพลังที่สำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

การหารืออย่างไม่เป็นทางการหรือในแบบ Retreat เมื่อช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เป็นการหารือกันภายใต้หัวข้อ การสิ่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีซึ่งความท้าทายอยู่ที่การหาทางป้องกันไม่ให้มีนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งคาดว่า จะบรรจุอยู่ในปฏิญญาที่จะประกาศในวันนี้ (8 ต.ค.) รวมถึงการผลักดันให้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาสามารถเดินหน้าต่อไปได้

 
ในการกล่าวเปิดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ พล.ท.ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน่ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียยังคงกล่าวย้ำถึงความสำคัญที่จะไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการเปิดการค้าเสรีซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการประชุมเอเปค
 
  
 
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีการหารือถึงการเดินหน้าเจรจาการค้ารอบโดฮาที่ยังล่าช้า เนื่องจากความไม่เห็นที่ไม่ตรงกัน ระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งการประชุมเอเปคครั้งนี้ จะพยายามหาทางที่จะปลดล็อกก่อนที่จะถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิกองค์การการค้าโลกในปลายปีนี้โดยตั้งเป้าหมายผลักดันข้อเสนอบาหลีหรือ Bali Package ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ การอำนวยความสะดวกการค้า, การค้าสินค้าเกษตร และสนับสนุนประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยผู้แทนสหรัฐฯย้ำว่า การค้าแบบพหุภาคีอยู้ในภาวะวิกฤต และการหารือระดับรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลกจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ระบบการค้าพหุภาคีจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ แต่จากบรรยากาศการประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดความคาดหวังว่า การเจรจาการค้าโลกจะสามารถเดินต่อไปได้
 
ส่วนจีนย้ำว่า เอเซียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทีไม่แน่นอน และจีนจะยังคงทำหน้าที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

    

 
ในส่วนของไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันถึงนโยบายของไทยต่อประเด็นการค้าพหุภาคีว่า ถึงแม้ความก้าวหน้าของการเจรจารอบโดฮา เป็นไปอย่างล่าช้า แต่ระบบการค้าพหุพาคียังต้องได้รับการส่งเสริมต่อไป แต่เนื่องจากข้อเสนอที่ครอบคลุมยังไม่พร้อมในเวลานี้ ไทยจึงสนับสนุนมาตรการ ที่ดำเนินการได้ก่อน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่ง ข้อเสนอบาหลี โดยไทยยืนยันสนับสนุน WTO และพร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนกระบวนการ Duty-Free Quota-Free หรือการยกเลิกโควต้า และภาษีนำเข้าสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดคิดเป็นมูลค่าเกือบพันล้านบาท
 
ขณะที่การหารือในช่วงเช้าระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและสภาที่ปรึกษาภาคธุรกิจเอเปค ทางฝ่ายเอกชนเสนอให้มีการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร โปร่งใส มีกฎที่เป็นเอกภาพในการลงทุน สร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ เอสเอ็มอี ซึ่งนาย ชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกระทรวงต่างประเทศบอกว่าบรรดาผู้นำเห็นด้วยในเรื่องนี้และจะมีการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยเหลือ
 
  
 
นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจแล้วเอเปคยังเป็นเวทีในการหารือสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก โดยนายจอห์น เคอรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้หารือกับนาย เซอร์เก ราฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียถึงการทำลายอาวุธเคมีในซีเรียซึ่งรัสเซียย้ำว่า ซีเรียต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้
 
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่าไม่ได้ข้อมูลที่ระบุว่ารัฐบาลซีเรียจะเปลี่ยนใจในการให้ความร่วมมือเรื่องอาวุธเคมีและรัสเซียจะทำทุกอย่างเพื่อให้ซีเรียทำตามข้อตกลงโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งรัสเซียและสหรัฐเห็นพ้องกันในการเตรียมการประชุมนานาชาติเพื่อรัฐบาลเฉพาะกาลของซีเรีย
 
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า ทั้งรัสเซีย และสหรัฐฯ เห็นพ้องกันว่า จะไม่มีการใช้กำลังทหาร รวมถึงจะต้องไม่มีคนที่มีแนวคิดสุดโต่งขึ้นมาเป็นผู้นำทั้งในฝ่ายรัฐบาและฝ่ายต่อต้าน ทั้งสหรัฐฯและรัสเซียจะพยายามให้กระบวนการเจนีวาเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด สหประชาชาติระบุว่า จะจัดการประชุมนานาชาติเพือหารัฐบาลเฉพาะกาลซีเรียภายในกลางเดือนพฤศจิกายนแต่จนถึงขณะนี้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังไม่สามารถหาผู้แทนที่เหมาะสมเข้าร่วมได้

    

 
สำหรับในวันนี้ (8 ต.ค.) จะมีการหารือของผู้นำกันต่อในเรื่องการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง หรือ Connectivity รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสมดุลย์ที่ไม่ได้มองแค่ตัวเลขเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะมีการประกาศปฏิญญา ส่วนปัญหาข้อพิพาททางทะเลในเอเซียโดยเฉพาะปัญหาทะเลจีนใต้ได้มีสมาชิกเอเปคพยายามหยิบยกขึ้นมาหารือแต่ได้มีการทักท้วงว่าควรที่จะนำไปหารือในเวทีของอาเซียนมากกว่าซึ่งข้อพิพาททางทะเลจะเป็นประเด็นร้อนในการประชุมอาเซียนและคู่เจรจาในวันที่ 9-10 ตุลาคมที่จะถึงนี้ซึ่งจะมีทั้งปัญหาทะเลจีนใต้และปัญหาทะเลจีนตะวันออก
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง