ศาลปกครองกลางยกคำร้อง คดีรัฐปรับขึ้นราคาแอลพีจี

เศรษฐกิจ
9 ต.ค. 56
05:34
105
Logo Thai PBS
ศาลปกครองกลางยกคำร้อง คดีรัฐปรับขึ้นราคาแอลพีจี

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวด้วยการเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ในการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน โดยเห็นว่า ไม่ใช่ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ส่วนคำสั่งของคณะรัฐมนตรีจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณา

นายไพโรจน์ มินเด็น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง เปิดเผยว่า ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 ราย ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปรับราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี โดยผู้ฟ้องมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2556 ที่เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน โดยให้ปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นมา

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกข้อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะทำให้ศาลเห็นได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีในส่วนของคณะรัฐมนตรี มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนดังกล่าว เป็นการทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 13 เดือน และกระทรวงพลังงานก็ได้มีโครงการบรรเทาผลกระทบ จากการปรับราคาขายปลีกภาคครัวเรือน

สำหรับการปรับขึ้นราคาขายปลีก แม้จะมีผลกระทบต่อประชาชนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน และเป็นผลกระทบที่ไม่ถึงขนาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของสภาวะทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน จึงมิใช่ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีคือคณะรัฐมนตรีไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว อาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ เพราะจะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมันจากการที่รัฐต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนผู้ใช้แอลพีจี

คดีนี้ศาลมีเพียงคำสั่งยกคำร้องขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 เท่านั้น ในส่วนของการพิจารณาว่า มติของคณะรัฐนตรีจะเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลคงจะต้องดำเนินการพิจารณาคดีตามกระบวนการที่กำหนดไว้ต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง